“ ด้วยเชื่อมั่นว่าโรคหัวใจและหลอดเลือดสามารถป้องกันได้ ”

รู้เร็ว รักษาเร็ว...หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (Cardiac Arrest)

รู้เร็ว รักษาเร็ว...หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (Cardiac Arrest)

 

 

ภาพหลอดเลือดแดงที่มีลิ่มเลือดอุดอยู่

 

หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน-สาเหตุและอุบัติการณ์

นอกเหนือจากที่ปรากฏตามข่าวหน้าหนังสือพิมพ์ ถึงการเสียชีวิตของคนในวงการบันเทิง ตามสถิติพบว่า ประเทศไทยมีการเสียชีวิตเฉียบพลันจากโรคหัวใจปีละประมาณ 50,000 คน สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากหลอดเลือดแดงหัวใจอุดตันเฉียบพลัน ทำให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจตาย และหัวใจหยุดเต้นตามมา ซึ่งจะพบได้ประมาณ 40% ของผู้ป่วยหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน และกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันทั้งหมด กล่าวคือ ถ้ามีผู้ป่วย 100 คน จะมี 40 คนที่เสียชีวิตทันทีหลังจากมีอาการ เนื่องจาก หลอดเลือดที่เลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจอุดตัน ทำให้ไม่มีเลือดไปเลี้ยงหัวใจ เกิดภาวะให้หัวใจหยุดเต้น หรือเต้นกระตุก และเสียชีวิตทันที โรคหัวใจอื่นๆที่เป็นสาเหตุสำคัญเช่น โรคกล้ามเนื้อหัวใจหนาซึ่งเป็นสาเหตุของหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันในคนอายุน้อยและนักกีฬา โรคไหลตายซึ่งเกิดจากวงจรไฟฟ้าในหัวใจที่ผิดปกติ

 

สัญญาณเตือน

ส่วนใหญ่จะมีอาการเตือน แต่ตัวผู้ป่วยมักไม่ได้สังเกต เช่น เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย มีอาการแน่นหน้าอก เวลาที่มีภาวะเครียด หรือเวลาออกแรง พักแล้วจะดีขึ้น รวมทั้งมีปัจจัยเสี่ยง ในคนอายุน้อย ปัจจัยเสี่ยงสำคัญคือ การสูบบุหรี่ พักผ่อนไม่เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีไขมันสูง และหรือมีโรคอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน เป็นต้น หรือมีประวัติการเสียชีวิตกะทันหันจากโรคหัวใจของพ่อแม่ ญาติพี่น้อง

 

เมื่อพบเห็นผู้ที่มีหัวใจหยุดเต้น จะทำอย่างไร

1.  ร้องขอความช่วยเหลือ ว่ามีใครที่สามารถทำการช่วยฟื้นคืนชีพได้บ้าง

2.  ผู้ที่มีความรู้เรื่องการช่วยฟื้นคืนชีพเบื้องต้น หรือมีเครื่องกระตุกหัวใจด้วยไฟฟ้า (AED) อยู่ก็ให้รีบ             ทำการช่วยชีวิตก่อน จะพบว่ามีโอกาสรอดชีวิตได้มากขึ้น

3.  ให้เรียกรถพยาบาลที่อยู่ใกล้บ้าน หรือเรียก “1669”

 

ถ้ามีอาการเอง จะทำอย่างไร ไปหาหมอรักษาอย่างไร?

1.  ถ้ามีอาการมาก ให้โทรเรียกรถพยาบาลที่อยู่ใกล้บ้าน หรือโทรเรียก “1669”

2.  ผู้ที่เป็นโรคหัวใจอยู่แล้ว เมื่อเกิดอาการให้อมยาใต้ลิ้น ถ้า 1 เม็ดไม่ดีขึ้น ให้อมเม็ดที่ 2 ห่างจาก     เม็ดแรก 5 นาทีถ้าไม่ดีขึ้นหรือไม่แน่ใจให้รีบไปโรงพยาบาล

3.  ถ้าสามารถไปโรงพยาบาลได้ ให้รีบไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด เมื่อไปถึงโรงพยาบาลแล้ว แพทย์ก็จะตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เพื่อวินิจฉัยว่าเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันหรือตีบรุนแรงแน่นอนแล้ว จะทำการรักษาโดยให้ยาละลายลิ่มเลือดหรือทำการขยายบอลลูนต่อไป

 4. หลังจากนั้นจะต้องพักฟื้นที่โรงพยาบาล ประมาณ 3-5 วัน เพื่อปรับยาและรักษาปัจจัยเสี่ยงที่เป็นสาเหตุ

 5. ก่อนกลับบ้าน แพทย์ พยาบาล และนักกายภาพบำบัด จะแนะนำวิธีปฏิบัติตัวเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพต่อไป

 6.ต้องมาตรวจ ติดตามอาการและรับยาเนื่องจาก เป็นโรคที่ไม่หายขาด ต้องกินยาอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต

 

ข้อแนะนำ

1.แนะนำให้ไปตรวจสุขภาพประจำปี อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อดูปัจจัยเสี่ยงต่างๆ

2.ในรายที่มีอาการเหนื่อยง่าย แน่นหน้าอก หรือคลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ และไม่แน่ใจว่าเป็นโรคหัวใจหรือไม่ ให้ไปรับการตรวจและรับคำปรึกษาโดยอายุรแพทย์หัวใจ

3.ควบคุม รักษา และป้องกันปัจจัยเสี่ยง

  • ความดันโลหิตสูง คุมระดับความดันให้อยู่ประมาณ 130/80 หรือ 140/90 มิลลิเมตรปรอท
  • โรคเบาหวาน คุมระดับน้ำตาลในเลือด ในระยะเฉียบพลันไม่ให้เกิน 170 มิลลิกรัมต่อ เดซิลิตรและในระยะยาวต้องคุมให้ระดับอยู่ระหว่าง 110-130 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
  • ไขมันสูง คุมระดับ LDL ให้ไม่เกิน 70 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
  • งดสูบบุหรี่โดยเด็ดขาด
  • รับประทานผักผลไม้
  • ออกกำลังกายสัปดาห์ละ 150นาที
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่เครียด

 

        

เรียบเรียงโดย นพ.เกรียงไกร เฮงรัศมี

กรรมการบริหารมูลนิธิหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์

 

 1081
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์