“ ด้วยเชื่อมั่นว่าโรคหัวใจและหลอดเลือดสามารถป้องกันได้ ”

แบบฝึกหัด หัวเราะ 6 เสียง

แบบฝึกหัด หัวเราะ 6 เสียง

 

         พวกเราคงรู้สึกได้และสัมผัสได้ว่าการหัวเราะและยิ้มบ่อยๆ จะทำให้เราอารมณ์ดี คลายเครียดได้ เนื่องจากมีสารแห่งความสุข หรือเรียกว่า “สารเอนดอร์ฟิน” ถูกหลั่งออกมากระตุ้นให้สมองสดใส คลายกังวล ทำให้ฮอร์โมนความเครียดลดลง สภาพจิตใจดีขึ้น ร่างกายได้รับออกซิเจนมากขึ้น มีการฟอกเลือดที่ปอดได้ดี และที่สำคัญยังทำให้หัวใจสูบฉีดโลหิตได้ดีด้วย แต่การหัวเราะนั้นไม่ใช่ว่าอยู่ดีดีก็จะหัวเราะขึ้นมาได้เอง ต้องอาศัยอารมณ์ร่วมหรือสถานการณ์ร่วมที่ทำให้เกิดความตลกขบขันหรือสนุกสนาน เราจึงต้องมีแบบฝึกหัดเพื่อทำให้เกิดการหัวเราะขึ้นมาได้ เรียกว่า “ฝึกหัวเราะบำบัด” หลักการใช้เสียงหัวเราะทั้งหมด 6 เสียง เสียงละ 3 ครั้ง ให้ฝึกทำทุกวัน แม้ในขณะนอนเล่น ขณะออกกำลังกาย ทำธุระส่วนตัวในห้องน้ำ หรือที่ใดก็ได้ที่คิดว่าเหมาะสมและไม่เป็นการรบกวนผู้อื่น

 

เสียงที่ 1 เสียงโอ / เสียงหัวเราะ

  • กางแขนออกไปด้านข้างของลำตัว งอแขนเล็กน้อย กำมือทั้งสองข้างโดยชูนิ้วหัวแม่มือขึ้น
  • สูดลมหายใจเข้าปอดลึกๆ กักลมไว้ ทำอารมณ์ให้สนุก แจ่มใส ยิ้มเข้าไว้ จากนั้นค่อยๆเปล่งเสียง “โอ โอ๊ะ ๆๆ ...” เหมือนเสียงซานตาคลอสหัวเราะ ขณะเดียวกันให้ค่อย ๆ ผ่อนลมหายใจออกจากท้อง พร้อมกับขยับแขนขึ้นลงเป็นจังหวะไปเรื่อยๆ จนเสียงหายเข้าไปในลำคอและลมที่กักไว้หมดพอดี

 

เสียงที่ 2 เสียงอา  /  อกหัวเราะ

  • กางแขนออกไปข้างลำตัวเหมือนนกกระพือปีก หงายมือขึ้น และปล่อยมือตามสบาย
  • สูดลมหายใจลึกๆ กักลมไว้ ทำอารมณ์ให้สนุก แจ่มใส ยิ้มเข้าไว้ ค่อยๆ เปล่งเสียง “อา อะ ๆ ๆ...” ดัง ๆ เหมือนเสียงเจ้าพ่อหัวเราะ ขณะเดียวกันค่อย ๆ ผ่อนลมหายใจออกจากหน้าอก พร้อมกับกระพือแขนขึ้นลงเป็นจังหวะเรื่อยๆไป จนลมที่กักไว้หมด

 

เสียงที่ 3 เสียงอู  /  คอหัวเราะ

  • ยกมือชี้ไปข้างหน้า งอนิ้วนางและนิ้วก้อยเข้าหาตัวเอง ยกนิ้วหัวแม่มือขึ้นและชี้นิ้วชี้และนิ้วกลางไปข้างหน้า ท่าทางเหมือนยิงปืน
  • สูดลมหายใจลึกๆ กักลมไว้ ทำอารมณ์ให้สนุก แจ่มใส ยิ้มเข้าไว้ ค่อยๆเปล่งเสียง “อู อุๆๆ...” แล้วค่อยๆ ผ่อนลมหายใจออกจากลำคอ พร้อมกับแทงมือไปข้างหน้าเป็นจังหวะ จนหมดลมที่กักไว้

 

เสียงที่ 4 เสียงเอ  /  ใบหน้าหัวเราะ

  • ยกมือขึ้นมาระดับหน้าอกหรือช่องท้องตามถนัด สูดลมหายใจลึกๆ แล้วขยับทุกนิ้ว
  • สูดลมหายใจลึกๆ กักลมไว้ ทำอารมณ์ให้สนุก แจ่มใส ยิ้มเข้าไว้ ระหว่างนั้นให้เปล่งเสียง  “เอ เอะ ๆๆ ...” ออกมาเป็นจังหวะ หัวเราะทำหน้าให้อ่อนใส อ่อนโยน เหมือนหยอกล้อเด็กก็ได้ จนหมดลมที่กักไว้

 

เสียงที่ 5 เสียงฮี  / จมูกหัวเราะ

  • สูดลมหายใจลึกๆ กักลมไว้ ทำอารมณ์ให้สนุก แจ่มใส ยิ้มเข้าไว้ แล้วย่นจมูกขึ้นทำเสียง “ฮึ ๆ ...” ในจมูกให้ลมออกจากจมูกเป็นจังหวะ ใช้เวลาเท่ากับการหัวเราะแบบอื่นๆ 

 

เสียงที่ 6 เสียงอือ  / สมองหัวเราะ

  • หายใจลึกยาวเข้าให้เต็มปอด เก็บลมไว้ ปิดปากแล้วเปล่งเสียง “อื่อ อือ” (คล้ายการทำเสียงอือขณะเล่นตี่จับ) อย่างต่อเนื่อง จนลมหมดแล้วเอามือที่ปิดปากออก เริ่มใหม่ เสียงที่เปล่งออกมาอย่างต่อเนื่อง จะดันให้เกิดการสั่นสะเทือนขึ้นไปนวดสมองและยังนวดกระบอกตา  สมองโล่ง โปร่งสบาย

 

 

“อย่าลืมนะคะ... หัวเราะ 6 เสียง เสียงละ 3 ครั้ง ให้โลกสวย สดใส ในทุกวัน”

 

เอกสารอ้างอิง

เนตรดาว  สุวรรณศักดิ์บวร (2556) สมองสร้าง จดจำ ทำงานเก่งและบำรุงได้ด้วยตนเอง, Feel Good Publishing:กรุงเทพฯ

        

 

 3909
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์