“ ด้วยเชื่อมั่นว่าโรคหัวใจและหลอดเลือดสามารถป้องกันได้ ”

ภาวะ PTSD : Post-Traumatic Stress Disorder

ภาวะ PTSD : Post-Traumatic Stress Disorder

ภาวะ PTSD : Post-Traumatic Stress Disorder คือผลกระทบทางจิตใจภายหลังจากภยันอันตรายที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นปัญหาด้านสุขภาพจิตอีกแบบหนึ่งที่ตามมาหลังจากที่ตัวเองต้องไปประสบปัญหาบางอย่าง หรืออันตรายบางอย่างที่รุนแรง จนเกิดผลกระทบต่อจิตใจ ซึ่งอาการที่จะเกิดขึ้น จะมีทั้งช่วงระยะสั้นและระยะยาว ในส่วนของระยะสั้นจะเริ่มจากช่วงแรกๆ บางคนอาจจะมีอาการภายใน 2-3 สัปดาห์ แบบนี้เรียกว่ามีอาการเกิดขึ้นทันที โดยจะมีอาการทั้งความรู้สึกวิตกกังวล มีความกลัวอย่างมาก รวมถึงมีความเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย พอผ่านไปสักระยะหนึ่งก็จะเกิดภาวะ PTSD ซึ่งจะมีอาการหลักๆ คือ

 

1.มีอาการที่รู้สึกว่าตัวเองกลับไปอยู่ในสถานการณ์ซ้ำๆ บางคนก็จะมีอาการลักษณะเหมือนเห็นภาพเหตุการณ์ร้ายๆ ในอดีตโผล่ขึ้นมา มีอาการฝันร้ายซ้ำๆ รู้สึกว่าตัวเองกลับเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์นั้นอีกครั้ง แล้วก็เกิดความกลัวและวิตกกังวลด้านจิตใจ

2.มีความรู้สึกอยากหลีกหนี พยายามจะไม่คิดถึง พยายามจะไม่พูดถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หลีกหนีจากสถานที่ที่จะทำให้นึกถึง ซึ่งจะเป็นเหมือนกลไกทางจิตอย่างหนึ่งที่จะปกป้องตัวเองไม่ให้กลับเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์นั้น และมีปัญหาตามมาคือกลัว วิตกกังวล ไม่กล้าออกจากบ้าน รวมไปถึงอาการเบื่อหน่าย ท้อแท้ บางคนก็อาจจะไม่สามารถกลับไปทำงานได้ และมีปัญหาอื่นๆ ทางด้านจิตใจ หรือถ้าในเด็กก็อาจจะฝันร้าย ปัสสาวะรดที่นอน เป็นต้น

 

ถ้ามีอาการทั้งหมดเหล่านี้ต่อเนื่องกันนาน 1 เดือน ก็จะเข้าข่ายเกณฑ์วินิจฉัยเป็นโรค PTSD

จากการรวบรวมข้อมูลเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดภาวะ PTSD มากที่สุดในประเทศไทย คือภัยพิบัติที่เกิดในชายแดนใต้ เช่น เหตุการณ์สึนามิ เป็นต้น บางครั้งภาวะ PTSD ไม่ได้เกิดขึ้นทันที และอาจเกิดได้แม้เหตุการณ์ผ่านไปแล้วโดยไม่มีอาการอะไรเลยต่อเนื่องจนถึง 6 เดือน แล้วถึงกลับมามีอาการใหม่ก็ได้เช่นกัน

ส่วนภัยพิบัติที่เกิดจากมือมนุษย์ ก็ส่งผลให้เกิดภาวะ PTSD ได้เช่นเดียวกันกับภัยพิบัติที่เกิดจากสิ่งแวดล้อม เช่น เหตุการณ์กราดยิงที่โคราชที่เพิ่งเกิดขึ้นนี้ อาจจะทำให้คนที่อยู่ในเหตุการณ์เกิดภาวะ PTSD ได้ หรืออาจจะไม่ใช่คนที่อยู่ในเหตุการณ์เสมอไป คนที่อยู่รอบๆ เหตุการณ์ หรือคนที่ได้ดูผ่านสื่อต่างๆ ที่บางครั้งอาจจะไม่ระมัดระวังในการนำเสนอ ก็มีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดภาวะ PTSD ได้เช่นกัน

การรักษาต้องร่วมมือกันทั้งแพทย์ คนไข้ และครอบครัว

ส่วนการรักษาภาวะ PTSD มี 2 รูปแบบ ส่วนมากจะเป็นการทำร่วมกัน คือ การรักษาด้วยยา ซึ่งปัจจุบันก็มียาหลายตัวที่ทำให้อาการดีขึ้นได้ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการทำจิตบำบัด และการทำกลุ่มบำบัด ก็จะช่วยทำให้คนที่มีภาวะ PTSD สามารถระบายและเผชิญหน้ากับความวิตกกังวลของตัวเองได้ดีมากขึ้น

หากผ่านเหตุการณ์ร้ายๆ มา มีโอกาสเสี่ยงเป็น PTSD ต้องหมั่นสังเกตตัวเอง และเชื่อฟังคนรอบข้าง

การสังเกตอาการ เราเองจะเป็นคนที่รู้จักตัวเองดีที่สุด เพราะฉะนั้นเราต้องหมั่นสังเกตอารมณ์ความรู้สึก และความคิดของตัวเอง ถ้าเราเริ่มมีอารมณ์เปลี่ยนแปลงไป เช่น เบื่อหน่าย ท้อแท้ ซึมเศร้า กังวลมาก หรือบางคนมีความคิดอยากทำร้ายตัวเอง มีความคิดอยากทำร้ายคนอื่น ต้องคอยสังเกตตัวเอง หรือในบางคนไม่รู้ตัวเอง หากคนรอบข้างหรือคนในครอบครัวบอกถึงอาการของเราที่เปลี่ยนไปก็ควรจะรับฟัง และรีบเข้าปรึกษาจิตแพทย์ หรือโทรสายด่วนสุขภาพจิต 1323 เพื่อประเมินอาการเบื้องต้น ซึ่งอาการ PTSD สามารถรักษาหายขาดได้ ถ้ารักษาอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ทุกคนช่วยกันทั้งตัวเองและครอบครัว มีโอกาสหายขาดแน่นอน

 

อ้างอิง :

ดร.นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ จิตแพทย์และโฆษกกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

อ.พญ.แสงศุลี ธรรมไกรสร ภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

 

#MentalHealthAwareness

 

 

 

 

 2716
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์