“ ด้วยเชื่อมั่นว่าโรคหัวใจและหลอดเลือดสามารถป้องกันได้ ”

ผลกระทบต่อสังคม จากอารมณ์โกรธ

ผลกระทบต่อสังคม จากอารมณ์โกรธ

 

       เคยไหม? ที่เห็นคนในครอบครัวหรือเพื่อนร่วมงาน ทะเลาะกัน โกรธกัน หรือเพียงแค่อารมณ์ไม่ดี หงุดหงิด แล้วทำให้ตัวเรารู้สึกไม่อยากยุ่ง ไม่อยากคุยด้วย ไม่อยากอยู่ใกล้ หลายๆคนคงมีความรู้สึกไม่แตกต่างกัน เพราะการแสดงออกทางอารมณ์ที่รุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งอารมณ์โกรธบางทีอาจทำอันตรายถึงแก่ชีวิตเลยก็ได้ เนื่องมาจากการนำไปสู่อาการขาดสติชั่วขณะ ทำอะไรไม่คิดไม่ไตร่ตรอง และท้ายสุดก็จะส่งผลกระทบที่ยิ่งใหญ่ต่อตนเองและบุคคลรอบข้างไม่มากก็น้อย

 

        อารมณ์โกรธที่ส่งผลกระทบต่อตนเอง บุคคลที่มีอารมณ์โกรธจะมีปฏิกิริยาทางสรีรวิทยา ที่ควบคุมด้วยสารสื่อประสาทและฮอร์โมน ซึ่งเป็นการเตรียมตัวที่จะต่อสู้หรือเดินหนี  หากเกิดขึ้นบ่อยๆ หรือเป็นระยะเวลานาน จะกลายเป็นอันตรายต่อสุขภาพ เนื่องจากมีผลโดยตรง อาจทำร้ายตนเองและผู้อื่นโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ ความโกรธที่ทำลายอาจมีผลต่อสุขภาพจิต และเมื่อบุคคลตอบสนองต่อเหตุการณ์ด้วยอารมณ์โกรธบ่อยๆ ก็จะกลายเป็นการตอบสนองปกติของบุคคลนั้นและไม่สามารถควบคุมได้ อาจต้องกินยาระงับอารมณ์ความรู้สึกนึกคิด ผลของอารมณ์โกรธทำให้บุคคลไม่สบายใจ ว่างเปล่า ซึมเศร้า และรู้สึกผิด ซึ่งเป็นผลมาจากการหลั่งสารอะดีนาลีน บุคคลที่มีอารมณ์โกรธมักไม่มีความสุขเลยและมีความภาคภูมิใจในตนเองต่ำ อีกทั้งยังส่งผลต่อการทำงานทั้งด้านครอบครัวและสังคมอีกด้วย

 

        อารมณ์โกรธที่ส่งผลกระทบต่อครอบครัว ผู้ใหญ่มักโกรธเด็ก ความโกรธมีผลเป็นอย่างมากต่อครอบครัวโดยทำให้เกิดความตึงเครียดและทะเลาะกันในครอบครัว ซึ่งนำไปสู่วงจรของความก้าวร้าว ได้แก่ การทำร้ายและถูกทำร้ายรวมถึงความรุนแรงอื่น ๆ ผลของความโกรธมีผลต่อเด็กทั้งด้านสุขภาพจิตใจและสุขภาพกาย เด็กที่เห็นเหตุการณ์ความรุนแรงอาจจะเกิดพฤติกรรมและอารมณ์ผิดปกติ เช่น การไม่เข้าสังคม ฝันร้าย พฤติกรรมก้าวร้าวและการตำหนิตนเอง อีกทั้งยังทำให้ความสามารถในการเรียนรู้ลดลง รวมถึงเด็กจะเกิดการเลียนแบบและกลายเป็นบุคคลที่ใช้ความโกรธและความรุนแรง จากการศึกษาพบว่า เด็กที่ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ได้เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ก็ยากที่จะสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับผู้อื่นได้ และเสี่ยงต่อการพัฒนาเป็นเด็กที่กระทำผิดกฎหมายหรือต่อต้านสังคม เช่น การหนีโรงเรียน การพักการเรียน หรือการถูกไล่ออก เด็กที่ไม่ได้เรียนหนังสือมักตกอยู่ในวงจรอาชญากรรม

       

        ผลกระทบจากอารณ์โกรธที่เกิดขึ้น ส่งผลเสียไปโดยรอบต่อชีวิตของบุคคลและคนรอบข้าง รวมถึงสังคมโดยรวม ดังนั้นจึงควรมีการฝึกระงับอารมณ์โกรธหรือการจัดการทางอารมณ์ตั้งแต่วัยเด็ก เพื่อลดความรุนแรงของพฤติกรรมแสดง และผลกระทบหรือปัญหาภัยสังคมที่จะตามมาในอนาคต

 

เอกสารอ้างอิง

วาทินี สุขมาก (2556) การพยาบาลสุขภาพจิตและจิตสังคม 1, สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม:มหาสารคาม

 

 11258
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์