ทุกคนคงคุ้นเคยกับคำพูดที่ว่า “ ไม่ว่าจะมั่งมีหรือยากจน สุขหรือทุกข์ เจ็บป่วยหรือสุขสบาย” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิญาณตนในพิธีแต่งงาน การแต่งงานไม่ว่าจะตามแบบศาสนาใดก็ล้วนเป็นการยืนยันว่าคนสองคนมีความตั้งใจที่จะใช้ชีวิตร่วมกันและดูแลกันและกันในระยะยาว ซึ่งการที่มีใครอีกหนึ่งคนคอยดูแลนี้มีผลประโยชน์ต่อคุณภาพชีวิตทั้งด้านจิตใจและสุขภาพเป็นอย่างมาก
แม้ว่าชีวิตคู่นั้นอาจมีทั้งวันที่ดีและวันที่ไม่ดี ถึงมีปัญหากระทบกระทั่งตามภาษาคนที่อยู่ใกล้ชิดกันบ้าง แต่ก็มีคนที่คอยร่วมยินดีและคอยดูแล และหากมองประโยชน์ด้านสุขภาพแล้ว การมีคู่ชีวิตมีความสัมพันธ์กับการมีสุขภาพที่ดีอยู่หลายประการ เริ่มต้นด้วยลักษณะการรับประทานอาหาร การศึกษาพบว่าผู้หญิงที่ใช้ชีวิตคู่มีการรับประทานผักและผลไม้และมีการบริโภคอาหารที่มีวิตามินดีและธาตุเหล็กที่มากกว่าผู้หญิงที่ใช้ชีวิตตัวคนเดียว เหตุอาจจะเป็นเพราะว่าเมื่อพอมีใครอีกคนให้ดูแล เลยอยากจะมอบสิ่งดีๆให้กับเขา จึงใส่ใจเลือกเตรียม ปรุงประกอบอาหารที่ดีต่อสุขภาพและเลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น
การมีคู่ชีวิตที่ดี ที่เป็นทั้งเพื่อน คนคอยดูแล คอยรับฟังและสนับสนุนในเรื่องต่างๆ สามารถช่วยผ่อนคลายความเครียดลงได้ ตามการศึกษาผู้ที่ใช้ชีวิตคู่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้าและมีระดับฮอร์โมนความเครียดน้อยกว่าผู้ที่ใช้ชีวิตคนเดียว การมีคนคอยดูแล เจ็บป่วยเล็กๆน้อยๆก็คอยเป็นห่วงดูแลก็ช่วยให้สุขภาพของเราดีขึ้น มีผลรายงานว่าผู้ที่แต่งงานแล้วมีอาการเจ็บป่วยเรื้อรัง มีภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันและโรคสมองขาดเลือดน้อยกว่าผู้ที่ยังไม่แต่งงาน และด้วยสาเหตุดังกล่าวจึงทำให้ผู้ที่แต่งงาน ใช้ชีวิตคู่มีอายุที่ยืนยาวกว่าผู้ที่ใช้ชีวิตคนเดียว
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ไม่ได้หมายความว่าการแต่งงานเป็นเรื่องที่ดีเสมอไป การตัดสินใจแต่งงานและใช้ชีวิตคู่ที่ผิด อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพใจและสุขภาพจิตมากกว่าการใช้ชีวิตคนเดียว และการแต่งงานไม่ใช่วิธีที่ช่วยแก้ปัญหาและช่วยเสริมสร้างคุณภาพชีวิตได้ทันที คนที่ใช้ชีวิตคนเดียวก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีสุขภาพแย่กว่าคนที่ใช้ชีวิตคู่ คนโสดที่มีคนรอบข้างที่ดี มีเพื่อน มีครอบครัว มีคนที่คอยช่วยเหลือดูแล ก็มีความสุข สนุกกับการใช้ชีวิต มีเวลาดูแลตัวได้มากขึ้น สามารถเลือกทานอาหารที่อร่อยและมีประโยชน์ได้ตามใจ มีเวลาว่างไปออกกำลังกาย มีความเครียดรวมถึงภาระด้านการเงินน้อยกว่า นอกจากมีเวลาดูแลตัวเองแล้ว คนที่ใช้ชีวิตตัวคนเดียวแม้จะไม่มีคนที่ใช่ให้ดูแล แต่ก็มีเวลาให้ได้ดูแลเพื่อน ครอบครัวและญาติพี่น้องได้มากขึ้น การมีความสัมพันธ์กับสังคมรอบข้างที่แน่นแฟ้นก็ช่วยทำให้มีสุขภาพที่ดีและอายุยืนยาวได้เช่นกัน
เอกสารอ้างอิง
J Woo, SSF Leung, SC Ho, A Sham, TH Lam and ED Janus. Influence of educational level and marital status on dietary intake, obesity and other cardiovascular risk factors in a Hong
Kong Chinese population. European Journal of Clinical Nutrition (1999) 53, 461-467.
Robert H. Shmerling. (2016). The health advantages of marriage. Harvard Health Blog. Retrieved on Febuary,9 2018, from https://www.health.harvard.edu/blog/the-health-advantages-of-marriage-2016113010667.