“ ด้วยเชื่อมั่นว่าโรคหัวใจและหลอดเลือดสามารถป้องกันได้ ”

3 หลักพื้นฐาน ช่วยป้องกันหัวใจทำงานหนักขณะออกกำลังกาย

3 หลักพื้นฐาน ช่วยป้องกันหัวใจทำงานหนักขณะออกกำลังกาย

หลายคนคิดว่าการออกกำลังกายมีแต่ประโยชน์ไม่มีโทษ แต่รู้หรือไม่ว่าการออกกำลังกายก็อาจก่อให้เกิดอันตรายได้โดยเฉพาะผู้ที่มีประวัติเป็นโรคหัวใจ

บทความนี้จะเสนอวิธีป้องกันไม่ให้หัวใจทำงานหนักเกินไปขณะออกกำลังกาย ไม่ใช่เฉพาะคนที่เป็นโรคหัวใจเท่านั้น คนที่แข็งแรงก็ไม่ควรมองข้าม

1. ตรวจสุขภาพประจำปีและตรวจสภาพหัวใจก่อนเริ่มต้นออกกำลังกายจริงจัง ถ้าพบปัจจัยเสี่ยง เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคอ้วน ไขมันในเลือดผิดปกติ  หรือคนในครอบครัวมีประวัติเกี่ยวกับโรคหัวใจและหลอดเลือด ต้องปรึกษาแพทย์ว่าเราควรตรวจสมรรถภาพหัวใจโดยการวิ่งสายพานหรือไม่ แล้วฟังคำแนะนำในการออกกำลังกายให้ปลอดภัยจากแพทย์อย่างเคร่งครัด

2. การออกกำลังกายที่เหมาะสม ไม่ควรให้เกินอัตราการเต้นของหัวใจสูงสุด หรือคิดอย่างคร่าวๆคือประมาณ 180 ครั้งต่อนาทีระหว่างออกกำลัง(ดูเพิ่มเติมในบทความ "ออกกำลังกายให้พอดี ดูได้ที่การเต้นของหัวใจ") ถ้าหัวใจเต้นมากกว่า 180 ครั้งต่อนาที ก็ควรชะลอการออกกำลังลงแล้วค่อยๆหยุดพักห้ามหักโหมออกกำลังกายแบบเดิมอีก

3. ขณะออกกำลังกาย ถ้ามีอาการเจ็บแน่นที่บริเวณกลางหน้าอกข้างซ้ายใต้ราวนม แล้วมีอาการเหมือนตะคริวตามมา คือรู้สึกร้าวไปที่หัวไหล่ซ้ายหรือกรามซ้าย เมื่อหยุดออกกำลังกายแล้วอาการค่อยๆ ดีขึ้นจนหายไป ถ้ามีอาการดังกล่าวแสดงว่ามีความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจ ควรหยุดพักแล้วรีบไปพบแพทย์

            …นอกจากนี้อย่าลืมหลักพื้นฐานในการออกกำลังกายทั่วไป เช่นอย่าออกกำลังกายหลังกินอาหารเสร็จใหม่ๆ อบอุ่นร่างกาย ยืดเส้นยืดสายทั้งขา แขน ไหล่ ก่อนและหลังก่อนออกกำลังกาย

เมื่อเริ่มออกกำลังกายก็ค่อยๆเพิ่มจากเบาไปหาหนัก เมื่อเวลาผ่านไปจึงเพิ่มระยะเวลาให้นานขึ้น  ถ้ารู้สึกหายใจไม่ทัน ปวดเมื่อย เหนื่อยล้า ก็ควรหยุดพักก่อน

 

รู้แบบนี้แล้ว ถึงจะมีโรคประจำตัวเกี่ยวกับหัวใจก็ออกกำลังกายได้ถ้ารู้จักเตรียมพร้อมและป้องกันความเสี่ยงต่างๆเพราะที่เสี่ยงยิ่งกว่าคือการไม่ออกกำลังกายเลย  ...ว่าแล้วก็มาเริ่มออกกำลังกายกันเถอะ

 1614
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์