“ ด้วยเชื่อมั่นว่าโรคหัวใจและหลอดเลือดสามารถป้องกันได้ ”

6 วิธีออกกำลังกายให้ปลอดภัย สำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจ

6 วิธีออกกำลังกายให้ปลอดภัย สำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจ

 
อาการหัวใจวายจากเส้นเลือดหัวใจอุดตันฉับพลันนั้นรุนแรงถึงชีวิต ถึงแม้ว่าหลายคนรักษาโดยการผ่าตัดได้ทันการ แต่หลังจากรักษาแล้วก็ต้องระวังทั้งการกินการอยู่ และต้องกินยาตามแพทย์สั่ง

ถ้าคนกลุ่มนี้ต้องการออกกำลังกายจะต้องระวังและเตรียมพร้อมในหลายๆ เรื่อง ซึ่งผศ.พญ. รัชนี แซ่ลี้ โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้ให้ข้อแนะนำไว้ดังต่อไปนี้

1. ควรเริ่มออกกำลังกายหลังการผ่าตัดหลัง4 สัปดาห์ขึ้นไป ก่อนเริ่มออกกำลังกายควรปรึกษาแพทย์ก่อน ส่วนจะออกได้นานแค่ไหนนั้น ให้สังเกตอาการเหนื่อย เมื่อรู้สึกเหนื่อยก็ควรหยุดพักทันที

2. เริ่มออกกำลังด้วยการยืดกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะช่วงขาด้านหลัง จากนั้นเดินช้าๆ ประมาณ 3-10 นาที ถ้ารู้สึกเหนื่อยหรือหายใจแรงให้หยุดพักก่อน   จากนั้นค่อยๆเพิ่มเวลาเดินในวันต่อมา แต่อย่าเพิ่งวิ่ง เมื่อผ่านไป 1 เดือนแล้วควรเดินให้ได้ 30 นาทีต่อวัน สัปดาห์ละ 3-5 วัน

3. ในช่วงเดือนแรกที่เดินออกกำลังกาย ควรมีผู้ติดตามไปด้วยเผื่อเกิดอุบัติเหตุ

4. ควรจัดตารางเวลาออกกำลังกายช่วงเดิมของทุกวันเพื่อความสม่ำเสมอ และให้ร่างกายได้ปรับตัว โดยเลือกเวลาที่ไม่กระทบกับการกินยาและการพักผ่อน

5. แม้จะเคยแข็งแรงมาก่อน แต่ต้องยอมรับว่าร่างกายอาจจะเหนื่อยง่ายกว่าปกติ อย่าหักโหมฝืนสภาวะพักฟื้นนี้ เพราะการออกกำลังกายหนักนอกจากไม่ช่วยให้ฟื้นตัวเร็วขึ้นยังอาจก่อผลเสียต่อหัวใจที่กำลังพักฟื้นได้

6. ควรมีเบอร์โทรศัพท์ของโรงพยาบาลใกล้บ้านหรือใกล้สถานที่ออกกำลัง ซึ่งดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินโรคหัวใจติดตัวไว้อยู่เสมอ 

สุดท้ายแม้จะออกกำลังกายเป็นประจำแล้ว  พญ.รัชนียังแนะนำว่าผู้ป่วยยังต้องปฏิบัติตัวตามแพทย์สั่งทุกอย่าง ทั้งควบคุมอาหาร ควบคุมความดันให้น้อยกว่า 130/80 มม.ปรอท ลดน้ำหนักให้ดัชนี BMI (หรือดัชนีมวลกาย)(ลิงก์ไปที่บทความ แบบไหนเรียกว่าอ้วน) ไม่เกิน 25 และคุมระดับไขมัน LDL ให้น้อยกว่า 70-100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร (mg/dL) และที่สำคัญคือไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่ และกินยาอย่างสม่ำเสมอตามแพทย์สั่งด้วย

 


แหล่งข้อมูล
"การออกกำลังกายที่เหมาะสมหลังเกิด Heart Attack"
สารหัวใจ ปีที่ 9 ฉบับที่ 6 กันยายน - ธันวาคม 2558

 

 

 526
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์