“ ด้วยเชื่อมั่นว่าโรคหัวใจและหลอดเลือดสามารถป้องกันได้ ”

จะทำอย่างไร? ถ้าหัวใจวายขณะออกกำลัง

จะทำอย่างไร? ถ้าหัวใจวายขณะออกกำลัง


  ปัจจุบันคนไทยนิยมออกกำลังกายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการวิ่ง การขี่จักรยาน การเข้าฟิตเนสทั้งนี้ก็เพื่อสุขภาพและบุคลิกที่ดี การออกกำลังกายแต่ละชนิดขึ้นอยู่กับเพศ วัย ความสนใจ หรือความถนัด แต่ที่น่ากังวลคือ คนออกกำลังกายบางคนเป็นโรคหัวใจโดยที่ไม่รู้ตัว   จนอาจเผลอออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาหักโหมเกินไป  ทำให้หัวใจวายกะทันหันได้

  บทความนี้จะช่วยให้เราสังเกตตัวเองและคนรอบข้างว่ามีภาวะเสี่ยงโรคหัวใจหรือไม่  รวมถึงวิธีแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าหากเกิดโรคหัวใจในภาวะวิกฤต

 

  ก่อนอื่นมารู้จักอาการ หัวใจวาย หรือ ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (Heart Attack) ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตที่สำคัญของประชากรทั่วโลกกันก่อน

  หัวใจวายมักเป็นอาการที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน โดยไม่มีอาการให้เห็นมาก่อน อาจเกิดจากการโหมออกกำลังกายอย่างหนัก ทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้นและเต้นไม่สม่ำเสมอ ความดันเพิ่ม และเกิดการอุดตันในหลอดเลือด

  นพ.ปัญเกียรติ โตพิพัฒน์ อายุรแพทย์โรคหัวใจและการสวนหลอดเลือด โรงพยาบาลเวชธานี ได้แจกแจงถึงสัญญาณอันตรายก่อนจะเกิดอาการหัวใจวายว่ามักจะมีอาการดังนี้

- แน่นหน้าอกเหมือนมีอะไรหนักๆ มากดทับ
- จุกแน่นหรือแสบบริเวณลิ้นปี่
- หายใจสั้น หอบ
- อาจมีอาการเจ็บร้าวที่บริเวณแขน คอ ไหล่ และกราม
- เหงื่อออกท่วมตัว
- คลื่นไส้ หน้ามืด ใจสั่น

  ถ้าออกกำลังกายแล้วมีอาการข้างต้นอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอาการประกอบกันให้หยุดออกกำลังกายทันที แล้วแจ้งให้คนใกล้ตัวทราบ สังเกตอาการประมาณ 10-20 นาที ถ้าไม่ดีขึ้นต้องรีบไปพบแพทย์หรือเรียกรถฉุกเฉินไปโรงพยาบาลทันที

 

  แต่หากหมดสติคนรอบข้างต้องช่วยกันอย่างทันท่วงที  โดย  นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.)ได้ให้คำแนะนำไว้ดังนี้

  เริ่มแรกคือต้องพาผู้ป่วยมาอยู่ในที่ที่ปลอดภัย เช่นถ้าวิ่งหรือขี่จักรยานอยู่แล้วหมดสติ ต้องประคองออกมานอกถนน หลังจากนั้นให้โทรสายด่วน 1669 หรือเรียกรถพยาบาลใกล้เคียงเพื่อขอความช่วยเหลือ 

  ระหว่างที่รอรถพยาบาลต้องเริ่มช่วยฟื้นคืนชีพ หรือ CPR การช่วยจะมีประสิทธิภาพมากขึ้นหากทำร่วมกับการใช้เครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจชนิดอัตโนมัติ หรือ AED(ขณะนี้ สพฉ.รณรงค์ให้มีการติดตั้งในพื้นที่สาธารณะเพิ่มขึ้นแล้ว)

  จากนั้นก็เริ่มกดปั๊มหัวใจ โดยจัดให้ผู้ป่วยนอนหงายบนพื้นผู้ช่วยเหลือนั่งคุกเข่าอยู่ด้านข้างผู้ป่วย โน้มตัวเพื่อให้แขนตั้งฉากกับหน้าอกผู้ป่วย  เหยียดแขนให้ตรงและตึง  แล้ววางส้นมือลงไปตามแนวกึ่งกลางของหน้าอกผู้ป่วยประสานนิ้วและล็อคนิ้ว กระดกข้อมือขึ้นลง โดยให้ส้นมือสัมผัสกับหน้าอกเท่านั้น 

  การออกแรงกด ให้ใช้แรงจากหัวไหล่ จุดหมุนอยู่ตรงสะโพก กดให้หน้าอกยุบลงไปอย่างน้อย 5 เซนติเมตร โดยให้ส้นมือสัมผัสกับหน้าอกผู้ป่วยตลอดการนวดหัวใจ ด้วยความเร็ว 100 ครั้งต่อนาที  และทำไปเรื่อยๆ จนกว่ารถพยาบาลจะมาถึง

 

  สุดท้าย ใครที่ออกกำลังหนักๆเป็นประจำ หรือใครที่เคยสงสัยว่าตัวเองจะเป็นโรคหัวใจหรือไม่ ควรไปตรวจสุขภาพประจำปีก่อนออกกำลังกายจะปลอดภัยที่สุด


แหล่งข้อมูล

http://www.manager.co.th/daily/viewnews.aspx?NewsID=9600000008914


http://www.thaihealth.or.th/Content/30574-%E0%B8%8A%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B8%A2%E0%B8%9C%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%9B%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B8%A2%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%AB%E0%B8%B1%E0%B8%A7%E0%B9%83%E0%B8%88%E0%B8%A5%E0%B9%89%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%A7%20%E0%B8%82%E0%B8%93%E0%B8%B0%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B8%81%E0%B8%B3%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A2.html

 586
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์