“ ด้วยเชื่อมั่นว่าโรคหัวใจและหลอดเลือดสามารถป้องกันได้ ”

อาการนอนกรน ส่งผลต่อโรคหัวใจ

อาการนอนกรน ส่งผลต่อโรคหัวใจ

 


การนอนกรนบ่งบอกว่าทางเดินหายใจส่วนบนแคบกว่าปกติ เสียงกรนเกิดจากการพยายามออกแรงหายใจเข้าผ่านทางเดินหายใจที่แคบ นอกจากนี้การนอนกรนยังเป็นสัญญาณอันตรายของโรคหัวใจบางประเภทอีกด้วย

ถึงแม้ผู้ที่กรนส่วนใหญ่จะไม่ได้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจโดยตรง  แต่มันเป็นสัญญาณว่ามีสิ่งผิดปกติเกี่ยวกับการหายใจ คือภาวะทางเดินหายใจส่วนบนอุดกั้นขณะหลับ (Sleep Apnea) ซึ่งภาวะทางเดินหายใจส่วนบนอุดกั้นขณะหลับนี้อาจส่งผลให้เป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน  โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิด atrial fabrillationและโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ซึ่งอันตรายและอาจทำให้เกิดความผิดปกติอื่นตามมาจนกระทั่งเสียชีวิตได้


ถ้าอยากรู้ว่าการนอนกรนของเราหรือคนใกล้ชิดเข้าขั้นเสี่ยงภาวะหยุดหายใจหรือยังลองสังเกตอาการดังต่อไปนี้... 

1. นอนกรนเสมอและกรนเสียงดัง

2. นอนสะดุ้งตื่นบ่อยๆ แต่ผู้ป่วยมักไม่รู้ตัว แต่รู้ได้จากคนที่นอนด้วย

3. กลางวันง่วงนอนมากโดยหาสาเหตุไม่ได้ หลับโดยไม่รู้ตัวเสมอ

4. ปวดศีรษะในตอนเช้า เนื่องจากตอนกลางคืนขาดอากาศหายใจ

5. ปากแห้งมากเมื่อตื่นนอนเพราะต้องอ้าปากหายใจขณะนอนหลับ

6. หงุดหงิดง่าย ความจำสั้น ขาดสมาธิ สมาธิสั้น  อารมณ์แปรปรวนง่าย  และซึมเศร้าง่าย


จากอาการข้างต้น อาจต้องสอบถามจากคนใกล้ชิดที่นอนด้วยกัน หรือไปพบแพทย์เพื่อตรวจอาการนอนหลับ (sleep test)ถ้าพบว่ามีหลายข้อหรือทุกข้อร่วมกัน ก็เสี่ยงมากที่จะเป็นภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าจะเกิดโรคหัวใจอย่างที่กล่าวไป

หากไป "ตรวจการนอนหลับ"แพทย์ก็จะให้นอนค้างที่โรงพยาบาล 1 คืน เพื่อติดเครื่องมือติดตามการนอน แล้วดูคลื่นไฟฟ้าสมอง คลื่นไฟฟ้าหัวใจ และความเข้มข้นออกซิเจนในเม็ดเลือดแดงส่วนความรุนแรงนั้น ทางการแพทย์แบ่งไว้ 3 ระดับ คือ ...

 - ขั้นต้น (mild sleep apnea) ผู้ป่วยจะหยุดหายใจ 5-14 ครั้งต่อชั่วโมงขณะหลับ 

 - ขั้นกลาง (moderate sleep apnea)  ผู้ป่วยจะหยุดหายใจ 15-30 ครั้งต่อชั่วโมงขณะหลับ 

 - ขั้นรุนแรง (severe sleep apnea)  ผู้ป่วยจะหยุดหายใจมากกว่า 30 ครั้งต่อชั่วโมงขณะหลับ 

ถ้าแพทย์วินิจฉัยแล้วว่าเป็นขั้นรุนแรงก็ต้องรักษา อาจจะพิจารณาโดยใส่เครื่องช่วยเพิ่มแรงดันขณะหายใจเข้าออก เพื่อให้ร่างกายรับออกซิเจนได้ดีขึ้น หรืออาจผ่าตัดเนื้อเยื่อรอบทางเดินหายใจ ขึ้นกับประเภทของอาการ


และท้ายที่สุด แพทย์จะแนะนำให้ปรับเปลี่ยนการดำเนินชีวิต คือลดน้ำหนักโดยปรับการกินอาหาร ออกกำลังกาย เลิกดื่มสุราและกาแฟ รวมทั้งข้อแนะนำอื่นๆที่เหมาะสมกับแต่ละคนต่อไป

 


แหล่งข้อมูล 
 บทความ “ภาวะหยุดหายใจขณะหลับกับโรคหัวใจ”โดย ผศ.พญ. รัชนี แซ่ลี้ โรงพยาบาลรามาธิบดี
( จาก“สารหัวใจ” ปีที่ 12 ฉบับที่ 1 เดือนมกราคม – เมษายน 2560 )

 

 943
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์