“ ด้วยเชื่อมั่นว่าโรคหัวใจและหลอดเลือดสามารถป้องกันได้ ”

นั่งน้อยลง อายุยืนขึ้น

นั่งน้อยลง อายุยืนขึ้น

 

        ปัจจุบันคนเรามีอุปกรณ์ เทคโนโลยีต่างๆเป็นเครื่องช่วยทุ่นแรงจำนวนมาก กิจกรรมทางกายจึงน้อยลงไป การใช้ชีวิตส่วนใหญ่เป็นการนั่งเรียนหรือนั่งทำงานเป็นเวลานานและมีโอกาสที่จะออกกำลังกายน้อย แต่รู้ไหมคะว่าแค่เพียงลุกขึ้นยืนมากขึ้น นั่งน้อยลงก็อาจช่วยให้เราอายุยืนยาวได้แล้ว

 

ในปี 2014 มีการศึกษาที่ชื่อว่า Stand up for health—avoiding sedentary behavior might lengthen your telomeres: secondary outcomes from a physical activity RCT in older people ของ Per Sjögren และคณะ จากมหาวิทยาลัย Uppsala ประเทศสวีเดน การศึกษานี้ต้องการศึกษาถึงการเปลี่ยนแปลงความยาวของปลายดีเอ็นเอ ที่เรียกว่าเทโลเมียร์ (Telomere) กับกิจกรรมทางกายที่มากขึ้น ตลอดระยะเวลา 6 เดือนในผู้สูงอายุ 49 คน

 

**เกร็ดความรู้**

เทโลเมียร์ (Telomere) คือ ส่วนปลายสุดของโครโมโซมที่จะคอยป้องกันยีนภายในโครโมโซม ในสภาวะปกติเทโลเมียร์จะสั้นลงเรื่อยๆ จนถึงจุดวิกฤตจะเกิดการสลับตำแหน่งของตำแหน่งดีเอ็นเอในโครโมโซม เซลล์จึงทำหน้าที่ไม่ได้ทำให้เกิดการเสื่อมสภาพของอวัยวะและร่างกาย การวิจัยในปัจจุบันนี้แสดงให้เห็นว่าการหดสั้นลงของเทโลเมียร์มีบทบาทสำคัญต่อการเกิดโรคต่างๆได้ พบว่า เทโลเมียร์ที่สั้นมีความสัมพันธ์กันกับโรคหลายชนิด เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน โรคทางสมอง (เช่น อัลไซเมอร์, พาร์กินสัน, สมองเสื่อม) และโรคมะเร็ง ในทางกลับกันหากเทโลเมียร์ที่มีขนาดยาวสามารถบ่งบอกว่าคุณมีสภาวะร่างกายสุขภาพดีและจะมีอายุที่ยืนยาวได้

 

          จากงานวิจัยที่ศึกษากันมาช้านาน พบว่าวิธีที่ทำให้เทโลเมียร์ของเรายาวขึ้นก็คือการมีสุขภาพที่ดี มีน้ำหนักตามเกณฑ์เหมาะสม รับประทานอาหารที่ดีและมีกิจกรรมทางกายที่เหมาะสม แต่การสูบบุหรี่ ความเครียดและความซึมเศร้าทำให้เทโลเมียร์สั้นลงหรือมีอายุสั้นลงนั่นเอง ผลการศึกษาของ Per Sjögren พบว่าระยะเวลาการนั่งที่ลดน้อยลงของผู้เข้าร่วมการทดลองมีความสัมพันธ์กับความยาวที่เพิ่มขึ้นของเทโลเมียร์อย่างมีนัยสำคัญ แต่ไม่พบความสัมพันธ์ระหว่างการออกกำลังกายด้วยจำนวนก้าวเดินที่เพิ่มขึ้นกับความยาวของเทโลเมียร์

       

แม้ผลการศึกษาความยาวของเทโลเมียร์กับกิจกรรมทางกายที่มากขึ้นในครั้งนี้ยังไม่ชัดเจน แต่การศึกษาถึงผลของการออกกำลังกายยังสามารถบอกถึงความสัมพันธ์ในการลดปัจจัยเสี่ยงโรคหัวใจ การศึกษานี้จะเขียนคำสั่งออกกำลังกาย ระบุชนิดของกิจกรรมทางกาย ความหนักเบา ความถี่และระยะเวลาในการทำกิจกรรมให้กับผู้เข้าร่วมการศึกษาเป็นระยะเวลา 6 เดือน และติดตามผลองค์ประกอบของร่างกาย ความดันโลหิตและน้ำตาลในเลือด เปรียบเทียบกับช่วงก่อนได้รับใบสั่งออกกำลังกาย พบว่าน้ำหนัก ดัชนีมวลกาย ความยาวรอบลำคอ ปริมาณไขมัน และปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหัวใจ ได้แก่ น้ำตาล คอเลสเตอรอล และไตรกลีเซอร์ไรด์ในเลือดของผู้เข้าร่วมลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

       

ดังนั้น พยายามอย่านั่งติดต่อกันเป็นเวลานานๆ ลุกขึ้นยืนบ้าง เดินไปไหนมาไหนบ้าง ซึ่งการลุกขึ้นยืนแทนที่จะนั่งนานๆ ก็เป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ยากและให้ผลตอบแทนต่อสุขภาพที่คุ้มค่า อายุยืนยาว

 

 

เอกสารอ้างอิง

Kallings L,Johnson J,Fisher R, et al. Beneficial effects of individualized physical activityon prescription on body composition and cardiometabolicrisk factors: results from a randomized controlled trial. Eur J Cardiovasc Prev Rehabil 16:80–84.

 

Sjögren P, Fisher R, Kallings L, et al. Stand up for health—avoiding sedentary behaviour might lengthen your telomeres: secondary outcomes from a physical activity RCT in older people Br J Sports Med 2014;48:1407-1409.

 540
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์