จากบทความเรื่องที่แล้ว กล่าวถึงการตรวจร่างกายเบื้องต้น หากจะให้ครบกระบวนการทั้งหมดของ การตรวจสุขภาพ จะรวมถึงการตรวจทางห้องปฎิบัติการด้วย ซึ่งผลของการตรวจพบหรือไม่พบของสารบางอย่างในเลือดนั้น สามารถนำไปใช้ในการบ่งชี้สุขภาพ ระบบต่างๆ สุขภาพหัวใจและการวินิจฉัยถึงความเป็นไปได้ของการเป็นโรคหัวใจต่อไปในอนาคต
เมื่อเราลองนึกถึงเวลาที่เราไปตรวจสุขภาพประจำปี การตรวจเลือดมักจะถูกรวมอยู่ในการตรวจทุกครั้ง ซึ่งทางโรงพยาบาลจะแนะนำให้อดอาหารมาก่อนเจาะเลือดประมาณ 8 – 12 ชั่วโมง ถึงทำการเจาะเลือดและวิเคราะห์ผลตามลำดับ แล้วผลการตรวจเลือดบอกอะไรที่เกี่ยวข้องกับระบบหัวใจและหลอดเลือดได้บ้าง
- การตรวจนับจำนวนเม็ดเลือด เป็นการตรวจวิเคราะห์ส่วนประกอบต่างๆ ของเลือด ความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด เช่น เม็ดเลือดแดง และเม็ดเลือดขาว
- การตรวจวัดระดับน้ำตาล เป็นการวัดความทนทานต่ออินซูลิน เนื่องจากผู้ที่มีความต้านทานต่ออินซูลิน (Insulin Resistance) และเป็นเบาหวาน จะมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจสูง
- การตรวจไขมันในเลือด เป็นการวัดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด บ่งบอกหรือพยากรณ์ถึงความเสี่ยงของภาวะไขมันอุดตันในหลอดเลือดได้
- ระดับสารน้ำและอิเลคโตรไลต์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการรักษาสมดุลน้ำและเกลือแร่ในร่างกาย เช่น ปริมาณโซเดียม โพแทสเซียม ฟอสเฟตในเลือด ซึ่งจะพบความสัมพันธ์ต่ออัตราการเต้นของหัวใจ
- ระดับธัยรอยด์ ตรวจเพื่อหาว่าต่อมธัยรอยด์ทำงานมากกว่าปกติหรือไม่ เนื่องจากหากต่อมธัยรอยด์ทำงานมากกว่าปกติ จะทำให้หัวใจเต้นเร็วเกินไป
หากมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจสูงหรือมีโรคหัวใจอยู่แล้ว แพทย์อาจสั่งตรวจเลือดเพิ่มเติมเชิงลึก เพื่อหาค่าเฉพาะเจาะจงต่อการทำงานของหัวใจ ได้แก่
- ซี-รีแอคทีฟโปรตีน (C-reactive protein) ความไวสูง (hs-CRp) เป็นการตรวจหาการอักเสบในหลอดเลือด นอกจากนี้ยังต้องหาโปรตีนในเลือดอีกสองชนิด ที่บ่งชี้การอักเสบเช่นกัน คือ ไฟบริโนเจน (fibrinogen) และเฟอร์ริติน(ferritin)
- โฮโมซิสเตอีน (Homocysteine) พบว่าระดับของโฮโมซิสเตอีนที่เพิ่มสูงขึ้นสัมพันธ์กับความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจมากขึ้น
- โปรธรอมบินไทม์ (Prothrombin time) เป็นการตรวจเพื่อดูระยะเวลาที่เลือดจะแข็งตัว ซึ่งแพทย์จะใช้ช่วยในการปรับขนาดยาป้องกันการเกิดลิ่มเลือด
- ตรวจระดับบีเอ็นพี ( BNP ย่อจาก B-type natriuretic peptide) เป็นโปรตีนที่หลั่งมาเพื่อบรรเทาความตึงเครียดต่อหัวใจ
- ตรวจเอนไซม์จากกล้ามเนื้อหัวใจ หากระดับเอนไซม์เหล่านี้สูงขึ้น จะช่วยบอกได้ว่ากล้ามเนื้อหัวใจถูกทำลายไปมากน้อยเพียงใด
รู้แบบนี้แล้ว อย่าได้เพิกเฉยหรือนิ่งนอนใจ หมั่นตรวจสุขภาพและตรวจเลือดเป็นประจำ หากเรารู้ถึงความผิดปกติของหัวใจก่อนก็รีบทำการรักษาก่อน โอกาสที่จะทำให้หัวใจกลับมาแข็งแรงก็จะมีมากขึ้น
เอกสารอ้างอิง
กองบรรณาธิการใกล้หมอ (2549) รักษ์หัวใจ 3 - ยา การรักษาและวิทยาการใหม่, ใกล้หมอ:กรุงเทพฯ