“ ด้วยเชื่อมั่นว่าโรคหัวใจและหลอดเลือดสามารถป้องกันได้ ”

7 เทคนิคเต้นแอโรบิคให้สนุกและปลอดภัย

7 เทคนิคเต้นแอโรบิคให้สนุกและปลอดภัย

 

 

ถึงเวลาตั้งใจจะออกกำลังกายจริงจังแล้ว มาดูกันว่าเตรียมตัวอย่างไรให้ปลอดภัยก่อนสนุกกับเต้นแอโรบิก เพราะหากเกิดการบาดเจ็บขึ้นมาคงจะไม่คุ้มกันแน่นอน สำหรับคนที่เริ่มโดยไม่มีครูฝึก เริ่มจากการเปิดวีดิโอสอนเต้น หรือไม่มีผู้ให้คำปรึกษา อยากให้ลองตรวจสอบความพร้อมก่อนการเต้น เพื่อป้องกันการบาดเจ็บที่อาจเกิดขึ้นได้ ดังต่อไปนี้

 

1. ตรวจสอบโครงสร้างของร่างกาย การที่ผู้เต้นมีน้ำหนักมาก สภาพร่างกายทางกระดูกและกล้ามเนื้อมีปัญหา เช่น การผิดรูปของเท้า และการขาดความสมดุลของกล้ามเนื้อ เมื่อเต้นแล้วต้องมีการรับน้ำหนักตัว และแรงกระแทก อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บที่ข้อเข่าและข้อเท้าได้

2. ตรวจสอบความพร้อมของร่างกาย หากไม่สบายเป็นไข้ นอนหมดแรง มีการบาดเจ็บทางกล้ามเนื้อกระดูกตามบริเวณต่างๆ หรือการพักผ่อนไม่เพียงพอ ก็ควรรักษาร่างกายให้แข็งแรงก่อน หรือแม้แต่การมีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคหอบหืด ผู้เต้นควรแจ้งและปรึกษาเเพทย์ก่อนเต้นด้วย

3. เทคนิคการเต้นและการออกแรง เนื่องจากการเต้นแอโรบิกจะใช้เคลื่อนไหวในทุกส่วนของ ร่างกายและทุกทิศทาง ผู้นำเต้นและผู้เต้นควรศึกษาวิธีการเคลื่อนไหวอย่างถูกต้อง ส่วนการกระโดดต้องพิจารณาถึงความฟิตของร่างกายตนเอง และขณะลงสู่พื้นควรมีการย่อเข่า เพื่อลดแรงกระแทกให้น้อยลง การบาดเจ็บก็จะไม่เกิดขึ้น

4. ระยะเวลาในการเต้นให้เกิดประโยชน์ต่อร่างกาย อย่างน้อย 30 นาที ส่วนความถี่ในการเต้นก็แล้วแต่สะดวก หากมีการบาดเจ็บบริเวณใดเกิดขึ้นควรงดท่าเต้นที่ใช้กล้ามเนื้อบริเวณนั้น หรืองดการเต้นไปสักพักจนกล้ามเนื้อแข็งแรงก่อน

5. อย่าลืมว่าก่อนเต้นต้องมีการอบอุ่นร่างกายโดยการยืดเหยียดกล้ามเนื้อให้เต็มที่ในทุกส่วนของ ร่างกายก่อนเสมอ จะช่วยทำให้กล้ามเนื้อที่ตึงตัวอยู่นั้นอ่อนตัวลง ช่วยลดการฉีกขาดของกล้ามเนื้อเอ็น และเนื้อเยื่อต่างๆ และยังเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของกระดูกและกล้ามเนื้ออีกด้วย

6. เลือกเครื่องแต่งกายที่เหมาะสม เสื้อผ้าต้องกระชับกับรูปร่างตนเอง ไม่รุ่มร่ามจนทำให้เกิดอุบัติเหตุขณะเต้นได้ ส่วนรองเท้าควรเลือกสวมรองเท้าที่มีชั้นรองเท้ารองรอบเท้าเพื่อลด การกระแทกและควรมีขนาดได้สัดส่วนกับเท้าของตนเอง จะช่วยลด การบาดเจ็บที่เกิดจากการกระแทกของข้อเข่า ข้อเท้าและข้อสะโพกได้

7. เลือกพื้นที่บริเวณที่จะใช้เต้นแอโรบิค ควรเป็นพื้นที่ความยืดหยุ่นและไม่ลื่น เพราะจะช่วยให้เกิดความมั่นคงในการเคลื่อนไหว หากสถานที่เต้นเป็นพื้น คอนกรีตจะเกิดแรงกระแทกได้ง่าย ผู้เต้นต้องรู้จักการป้องกันตนเอง ลดแรงกระแทกของข้อต่อ ขณะเคลื่อนไหวด้วยการย่อเข่า และเรียนรู้ท่าเต้นที่ถูกต้อง เป็นต้น หากเป็นพื้นพรม หรือสนามหญ้าจะมีความหนืดในการเคลื่อนไหว เสี่ยงต่อการสะดุดเท้าตนเองได้

 

 

เอกสารอ้างอิง

สำนักวิทยาศาสตร์การกีฬา สำนักงานพัฒนาการกีฬาและนันทนาการ กระทรวงการท่องเทียวและกีฬา (2551) คู่มือวิทยากรแอโรบิกมวยไทย

 

 

 13119
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์