“ ด้วยเชื่อมั่นว่าโรคหัวใจและหลอดเลือดสามารถป้องกันได้ ”

ความหนักของการออกกำลังกายกับโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ

ความหนักของการออกกำลังกายกับโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ

 

        ผู้ป่วยหลายท่านอาจจะยังไม่มั่นใจว่าตนเองสามารถทนต่อความหนักของการออกกำลังกายได้มากแค่ไหน ถ้าใช้แรงมากเกินไปหรือหักโหมมากเกินไป จะเกิดอันตรายต่อตนเองหรือไม่ เนื่องจากหากผู้ป่วยมีภาวะของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจตีบตันอยู่ก็จะทำให้มีเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้ไม่เพียงพอเมื่อต้องออกกำลังกาย ในบทความนี้จึงเสนอคำแนะนำความหนักของการออกกำลังกายให้ปลอดภัยสำหรับผู้ป่วย

 

ข้อแนะนำที่ 1 หากท่านเป็นผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบและต้องการออกกำลังกายอย่างจริงจัง แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการตรวจสมรรถภาพหัวใจ  EST (Exercise Stress Testหรือ ETT (Exercise Tolerance Test) เป็นการตรวจสมรรถภาพของหัวใจ โดยให้ผู้ป่วยออกกำลังกายด้วยวิธีต่างๆ เช่น เดินบนสายพานเลื่อนหรือปั่นจักรยาน เพื่อให้ทราบว่า เมื่อหัวใจมีความต้องการในการใช้ออกซิเจนจากเลือดเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่ออกกำลังกายแล้วจะเกิดภาวะการขาดเลือดขึ้นหรือไม่ โดยดูการเปลี่ยนแปลงของคลื่นไฟฟ้าหัวใจ บางรายจะเกิดอาการเจ็บจุกแน่นหน้าอกขณะออกกำลังกายซึ่งอาจเป็นอันตรายได้

 

ข้อแนะนำที่ 2 สำหรับผู้ที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบและไม่มีผล  Exercise Stress Test  เบื้องต้นของการออกกำลังกายแนะนำให้คำนวณความหนัก โดยใช้อัตราการเต้นของหัวใจเป็นตัวกำหนดความหนัก โดยให้อัตราการเต้นของหัวใจเร็วขึ้นจากในขณะพักอีกประมาณ  20- 30 ครั้ง/นาที การศึกษาในต่างประเทศ พบว่า ความหนักของการออกกำลังกายโดยที่มีอัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้นประมาณ  20 – 30 ครั้ง/นาที จากขณะพักนั้น ปลอดภัยในกลุ่มคนที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ

 

ข้อแนะนำที่ 3 หากไม่มีเครื่องวัดอัตราการเต้นของหัวใจหรือชีพจร แนะนำใช้การพูดคุยระหว่างการออกกกำลังกายเป็นตัวกำหนดความหนัก เช่น ขณะออกกำลังกาย หากสามารถพูดคุยกับเพื่อนที่ร่วมออกกำลังกายได้และมีการหายใจที่เร็วขึ้น แรงขึ้น และรู้สึกเหนื่อยนิดๆ แต่ไม่เป็นอุปสรรคต่อการพูดคุยระหว่างการออกกำลังกายถือว่าการออกกำลังกายที่ทำอยู่นั้นอยู่ในระดับที่เหมาะสมและพอดี แต่ถ้าทันทีที่มีอาการหอบเหนื่อย หายใจไม่ออก พูดไม่เป็นคำ แนะนำให้หยุดพักเนื่องจากอยู่ในระดับความหนักที่มากเกินไป

 

ข้อแนะนำที่ 4 ในการเริ่มออกกำลังกาย ควรเริ่มต้นอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำ ความหนักไม่มากก่อน พอร่างกายเริ่มชิน แข็งแรง และมีการเปลี่ยนแปลงให้มีความทนมากขึ้น จึงค่อยเพิ่มระดับความหนักของการออกกำลังกายตามความเหมาะสม ทั้งนี้ผู้ที่ออกกำลังกายเองต้องหมั่นตรวจสอบและประเมินตนเอง ถึงความเหนื่อย และความทนทานของร่างกายอย่างใกล้ชิด

 

ข้อแนะนำที่ 5 ในกรณีผู้ที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบและมีประวัติอาการแน่นหน้าอก (Angina) ในขณะพักหรือขณะที่ออกกำลังกาย ควรได้รับการประเมินจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจและควรมีผลทดสอบ  Exercise Stress Test  ประกอบในการกำหนดโปรแกรมการออกกำลังกายด้วย

 

เอกสารอ้างอิง

 

Lavie, C. J., Milani, R. V., Artham, S. M., Patel, D. A., & Ventura, H. O. (2009). The obesity paradox, weight loss, and coronary disease. The American journal of medicine, 122(12), 1106-1114.

 

กลุ่มพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมควบคุมป้องกันการบาดเจ็บจากการออกกกำลังกาย กองออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (2555) คู่มือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข การป้องกันและบำบัดโรคไม่ติดต่อเรื้องรังด้วยการออกกำลังกาย โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคอ้วน โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ (Exercise Prescription for Diabetes, Hypertension, Obesity and Coronary Artery Disease), สำนักกิจการโรงพิมพ์ องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก; กรุงเทพฯ

 

         

 828
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์