“ ด้วยเชื่อมั่นว่าโรคหัวใจและหลอดเลือดสามารถป้องกันได้ ”

ผู้ป่วยโรคหัวใจ กินอย่างไรให้สุขภาพดี

ผู้ป่วยโรคหัวใจ กินอย่างไรให้สุขภาพดี


บทความก่อนหน้านี้เราเคยบอกไปแล้วว่าอาหารแบบใดที่เพิ่มความเสี่ยงโรคหัวใจ  ("5 พฤติกรรมการกินเสี่ยง วัยทำงานควรเลี่ยง" และ "กินเสี่ยงโรคหัวใจ คนสูงวัยต้องระวัง") แต่อาหารสำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจซึ่งผ่านการรักษา กินยา หรือผ่าตัดมาแล้ว  ก็คงต้องระบุลงไปให้ชัดเลยว่า   ต้องปรับอาหารหมู่ไหน และควรเลือกรับประทานอะไรบ้าง?

 

ซึ่งเรื่องนี้ บทความ "อาหารมีผลต่อสุขภาพ" โดย พญ.สวรรยา เดชอุดม และ ผศ.ดวงใจ มาลัย และบทความ "อาหารลดหลอดเลือดหัวใจตีบตัน" โดย ผศ.ดร.เรวดี จงสุวัฒน์ ได้แนะนำว่า…

 

ไขมัน


แม้ไขมันจะเป็นสารอาหารที่ร่างกายต้องการ แต่เนื่องจากไขมันอยู่ในอาหารแทบทุกชนิดผู้ป่วยโรคหัวใจจึงต้องงดไขมันที่ได้จากแหล่งอื่น เช่น ขนม ขนมหวาน เนย

น้ำมันที่ใช้ทำอาหารสำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจ ต้องมีสัดส่วน "กรดไขมันชนิดดี" อยู่มาก เช่น น้ำมันมะกอก น้ำมันเมล็ดชา น้ำมันคาโนลา และต้องเลือกชนิดที่ทนความร้อนสูงเพื่อไม่ให้ไขมันเปลี่ยนรูป

น้ำมันเหล่านี้จะช่วยเพิ่มไขมันดี (HDL) และลดไขมันเลว (LDL) ทำให้ลดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ

ส่วนน้ำมันที่ควรเลี่ยงคือน้ำมันจากสัตว์ เช่น น้ำมันหมู และน้ำมันพืชบางชนิด เช่นน้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว เพราะมีไขมันเลวอยู่มาก

 

คาร์โบไฮเดรตและใยอาหาร

ผู้ป่วยโรคหัวใจต้องจำกัดน้ำตาลและอาหารจำพวกแป้ง เช่นขนมปัง ข้าวขัดขาว ให้รวมแล้วไม่ถึง 45% ของอาหารทั้งหมดที่กินไปต่อวันหรือไม่ถึงครึ่งนั่นเอง

คาร์โบไฮเดรตเป็นสารอาหารที่ย่อยและดูดซึมได้เร็ว ถ้ากินมากจะส่งผลให้ระดับไตรกลีเซอไรด์สูงขึ้น การเผาผลาญไขมันลดลง เพิ่มความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจตีบได้ 

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากคาร์โบไฮเดรตช่วยให้อิ่ม คนส่วนใหญ่จึงเลือกกินอาหารประเภทนี้แต่ควรเลือกแบบที่มีกากใยสูงเพื่อลดคาร์โบไฮเดรตและน้ำตาล เช่นเลือกข้าวกล้องแทนข้าวขาว

 


โปรตีน

เมื่อพูดถึงโปรตีน หลายคนจะนึกถึงเนื้อสัตว์และนม  ซึ่งทั้ง2อย่างมักจะมาพร้อมกับไขมัน และเป็นไขมันชนิดเลวที่ผู้ป่วยโรคหัวใจควรเลี่ยง

ที่จริงแล้วยังมีทางเลือกอื่นๆเช่น เต้าหู้ที่ปรุงโดยการต้มหรือผัดด้วยน้ำมันพืชที่มีประโยชน์ หรือนมถั่วเหลืองน้ำเต้าหู้ที่ไม่ใส่น้ำตาล ถ้าจะรับประทานเนื้อสัตว์ก็ควรเลือกรับประทานปลาที่ปรุงสุกด้วยการนึ่ง อบ หรือผัดด้วยน้ำมันพืชปริมาณน้อย หลีกเลี่ยงปลาทอดโดยเฉพาะหนังปลาทอดกรอบส่วนเนื้อสัตว์อื่นๆเช่น หมู วัว ไก่ กุ้ง ปลาหมึก ก็ควรหลีกเลี่ยง


วิตามินและแร่ธาตุ

เทคนิคการรับประทานอาหารให้อิ่มโดยไม่ต้องพึ่งคาร์โบไฮเดรต ไขมัน หรือโปรตีน นั่นคือการรับประทานผักและผลไม้ให้มากๆ โดยเฉพาะผักใบเขียวซึ่งมีเส้นใยสูง รวมทั้งมีวิตามินกับแร่ธาตุที่เป็นประโยชน์กับร่างกาย โดยเฉพาะวิตามินบี6 และ บี12 จะช่วยลดสารโฮโมซิสเตอีนซึ่งเป็นตัวการของโรคหัวใจส่วนผลไม้ต้องเลือกกินผลไม้กากใยสูง น้ำตาลน้อย เช่น ฝรั่ง ชมพู่ 


ถ้ารับประทานอาหารได้แบบนี้ รับรองว่าอาการของโรคหัวใจจะค่อยๆ ดีขึ้น ไม่เฉพาะคนที่เป็นโรคหัวใจนะ คนสุขภาพดีก็นำเทคนิคการรับประทารอาหารแบบนี้ไปใช้ได้


แหล่งข้อมูล :

บทความ "อาหารมีผลต่อสุขภาพ" โดย พญ.สวรรยา เดชอุดม และ ผศ.ดวงใจ มาลัย จากหนังสือ "อาหารไทย หัวใจดี"  โดย มูลนิธิหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์

บทความ "อาหารลดหลอดเลือดหัวใจตีบตัน" (ข้อมูลจาก ผศ.ดร.เรวดี จงสุวัฒน์ ชมรมโภชนวิทยามหิดล)   http://www.thairath.co.th/content/60461
 

 1228
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์