“ ด้วยเชื่อมั่นว่าโรคหัวใจและหลอดเลือดสามารถป้องกันได้ ”

กินสู้โรคเบาหวาน ป้องกันโรคหัวใจ

กินสู้โรคเบาหวาน ป้องกันโรคหัวใจ

 

อาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรตโดยเฉพาะน้ำตาล ถ้าเรากินมากเกินไป นอกจากก่อโรคเบาหวานแล้ว ยังเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจอีกด้วย  เพราะร่างกายไม่สามารถเผาผลาญไขมันเท่าที่ควร  จึงมีไขมันส่วนเกินไปทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบได้

ใครที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานจึงต้องปรับตัวโดยจำกัดปริมาณให้เหมาะสม ทั้งเพื่อสู้โรคปัจจุบัน และป้องกันโรคหัวใจที่อาจตามมา ซึ่ง พญ.มงคลธิดา อัมพลเสถียร ได้ให้คำแนะนำวิธีปรับอาหารเป็น 4 กลุ่ม เพื่อให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานจดจำง่ายและนำไปใช้ได้จริง

 

คาร์โบไฮเดรต
    จำกัดการกินไม่เกิน 50% หรือครึ่งหนึ่งของพลังงานที่กินเข้าไปในแต่ละวัน โดยเลือกกินเป็นธัญพืชไม่ขัดสี ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ หรือขนมปังโฮลวีต สำหรับน้ำตาลกินได้บ้างเล็กน้อย โดยรวมน้ำตาลที่ได้รับต่อวันผ่านอาหารหรือเครื่องดื่มทุกชนิดต้องไม่เกิน 6 ช้อนชา

 

ไขมัน
    จำกัดการกินไม่เกิน 30% ของพลังงานทั้งหมดที่ได้รับในแต่ละวัน โดยมีปริมาณไขมันอิ่มตัวไม่เกิน 7% ของปริมาณไขมันทั้งหมด และไม่ควรมีไขมันทรานส์ เช่นในมาร์การีน เนยขาว ขนมอบกรอบควรหลีกเลี่ยงไขมันหรือน้ำมันจากสัตว์ เพราะมีองค์ประกอบส่วนใหญ่เป็นไขมันอิ่มตัว (ลิงก์ไปที่บทความ น้ำมันแบบไหนดีต่อใจ ไม่เสี่ยงโรค)ส่วนน้ำมันพืชควรเลี่ยงน้ำมันมะพร้าวและน้ำมันปาล์มเพราะมีไขมันอิ่มตัวอยู่มากเช่นกัน

 

โปรตีน
    ควรกินประมาณ 20% หรือ 1ใน 5 ของพลังงานที่กินต่อวัน ถ้าเป็นเนื้อสัตว์ ก็ควรเลือกเนื้อสัตว์ไขมันต่ำ ไม่ติดมัน หลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์ไขมันสูง เช่น ขาหมู เบคอน แฮม ซี่โครง หนังสัตว์โดยหันไปกินปลาหรือเนื้อไก่ไม่ติดหนัง ส่วนนมควรเลือกแบบไม่หวาน นมพร่องมันเนย หรือนมถั่วเหลือง

 

วิตามินและแร่ธาตุ
    ผักใบเขียวกินได้ทุกมื้อและไม่จำกัด เพราะมีพลังงานต่ำและมีกากใยสูง ช่วยให้การดูดซึมน้ำตาลช้าลง เป็นผลดีกับผู้ป่วยโรคเบาหวาน ควรปรุงผักด้วยการต้มแทนการผัดที่ใช้น้ำมัน    ส่วนผลไม้ให้เลือกผลไม้หวานน้อย กากใยสูง เพื่อให้ร่างกายได้รับน้ำตาลน้อยและดูดซึมช้า เช่นฝรั่ง ชมพู่ หลีกเลี่ยงผลไม้หวานมากกากใยต่ำ เช่นทุเรียน ขนุน ละมุด ลำไย องุ่น รวมทั้งหลีกเลี่ยงผลไม้เชื่อมและผลไม้แช่อิ่มทุกชนิด
คำแนะนำทั้งหมดนี้  ผู้ป่วยโรคเบาหวานต้องปฏิบัติตามอย่างจริงจัง อาจทำเป็นแบบจำลองง่ายๆคือในแต่ละวันให้กิน ผัก 50%เนื้อนมไข่25%ข้าวไม่ขัดสีหรือขนมปังโฮลวีต25% ส่วนอาหารว่างควรเป็นผลไม้ที่กากใยสูง เท่านี้ผู้ป่วยโรคเบาหวานก็สุขภาพดีขึ้นได้


 แหล่งข้อมูล : 
 บทความ “อาหารสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน” จาก สารหัวใจ ปีที่ 9 ฉบับที่ 6 โดยมูลนิธิหัวใจแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

 

 385
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์