“ ด้วยเชื่อมั่นว่าโรคหัวใจและหลอดเลือดสามารถป้องกันได้ ”

เชอร์รี่ บำรุงหัวใจ ร่างกายแข็งแรง

เชอร์รี่ บำรุงหัวใจ ร่างกายแข็งแรง

เชอร์รี่ (Cherry) ผลไม้เมืองหนาวที่ประเทศไทยเรานำเข้ามาจากทวีปอเมริกา ทวีปยุโรป ออสเตรเลีย ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นผลไม้ขวัญใจของใครหลายคนในปัจจุบัน เพราะเชอร์รี่เป็นผลไม้ที่มีรสชาติอร่อยถูกปาก คือไม่หวานมากแต่จะหวานอมเปรี้ยว ซึ่งทำให้เมื่อรับประทานแล้วจะรู้สึกสดชื่นและกระปรี้กระเปร่ามากขึ้น ลักษณะของผลเชอร์รี่นั้นจะมีขนาดเล็ก ลูกกลมป้อม เปลือกภายนอกเป็นสีแดง หรือสีส้ม-เหลืองตามลักษณะเฉพาะของแต่ละสายพันธุ์ หากเราแบ่งเชอร์รี่ตามความเด่นของรสชาติ จะเแบ่งได้ 2 กลุ่ม  ได้แก่ กลุ่มเชอร์รี่แบบหวาน (Sweet Cherries) และกลุ่มเชอร์รี่หวานอมเปรี้ยว (Sour Cherries) คนส่วนใหญ่จะนิยมรับประทานเชอร์รี่กันสดๆ อย่างไรก็ตามสามารถนำเชอร์รี่ไปคั้นเป็นน้ำเชอร์รี่ได้ หรือจะนำไปเป็นส่วนผสมในของหวานหลายประเภท เช่น พายเชอร์รี่ เค้กเชอร์รี่ ไอศครีม เป็นต้น

 

คุณค่าทางโภชนาการ ต่อ เชอร์รี่ 100 กรัม

 

รับประทานเชอร์รี่แล้วดีอย่างไร?

1. ดีต่อใจ ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะหลอดเลือดหัวใจอุดตัน และโรคหัวใจและหลอดเลือด เนื่องจากสารพฤกษเคมีสีแดงในผลเชอร์รี่ หรือที่รู้จักกันว่า “สาร Anthocyanin” และสารต้านอนุมูลอิสระตัวอื่นๆ ที่อยู่ในผลเชอร์รี่ มีส่วนช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด และจากการศึกษาของ Kelley และคณะ ในปี 2006 พบว่าเมื่อให้อาสาสมัครสุขภาพดีชายและหญิง รับประทานเชอร์รี่ประมาณ 45 ลูก หรือ 280 กรัมต่อวัน เป็นเวลา 28 วัน ส่งผลให้ระดับ C-reactive protein (CRP) หรือโปรตีนชนิดหนึ่งในเลือดที่ใช้บ่งบอกถึงการอักเสบ และตรวจประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจลดลงได้

 

2. ดีต่อข้อ ช่วยลดการลดอาการอักเสบบริเวณข้อหรือบรรเทาอาการปวดอักเสบของโรคเก๊าต์ได้ สาร Anthocyanin และสารต้านอนุมูลอิสระอื่นๆ ช่วยลดการอักเสบได้ จากงานวิจัยของ Jacob และคณะ ในปี 2003 ศึกษาพบความสัมพันธ์ของการรับประทานเชอร์รี่ 45 ลูกต่อวัน ในตอนเช้า มีความเป็นไปได้ว่าอาจส่งผลทำให้ระดับกรดยูริคในเลือดลดลงถึงร้อยละ 15 แต่อย่างไรก็ตามยังต้องศึกษาเป็นงานวิจัยเชิงลึกต่อไปในอนาคต

 

3. “ดีต่อลำไส้” ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งในลำไส้ใหญ่ ด้วยผลจากใยอาหารในเนื้อและเปลือกของเชอร์รี่ที่ช่วยทำให้ระบบย่อยอาหารและระบบขับถ่ายมีสุขภาพดี และสาร Anthocyanin ที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีอยู่มากในเชอร์รี่ ทำให้ลำไส้มีสุขภาพดี ลดการเกิดอนุมูลอิสระในเซลล์ และลดการเกิดเซลล์บาดเจ็บเสียหายได้

 

4. ดีต่อน้ำหนักตัว ช่วยรักษาควบคุมน้ำหนักตัว เนื่องจากเชอร์รี่เป็นผลไม้ที่ให้พลังงานต่ำเหมาะสำหรับคนที่กำลังลดน้ำหนัก และมีใยอาหารช่วยให้อิ่มนานขึ้น เลยจะช่วยลดอาการอยากรับประทานอาหารหรือขนมจุบจิบระหว่างมื้อได้

 

5. ดีต่อเบาหวาน ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดี เชอร์รี่เป็นผลไม้ที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ อยู่ประมาณ 22 (ในกรณีรวชาติอมเปรี้ยว) – 63 (ในกรณีรสชาติหวานมาก) เมื่อรับประทานแล้วจะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดค่อยๆเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ และช่วยให้การหลั่งและการทำงานของฮอร์โมนอินซูลินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งดีต่อการคุมระดับน้ำตาลในเลือด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยเบาหวาน

 

 

เอกสารอ้างอิง

1. Alleaume Kathleen (2010) A Powerful “super” Fruit Story, The Australian Cherry Report, November 2010

2. Ferretti G et al. (2010) Cherry Antioxidants: From Farm to Table, Molecules, Vol.25, p6993-7005

3. Kelley DS et al. (2006) Consumption of Bing sweet cherries lower circulating concentration of inflammation markers in healthy men and women, J Nutr, Vol.136, p981-986

 

 

 

 2947
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์