“ ด้วยเชื่อมั่นว่าโรคหัวใจและหลอดเลือดสามารถป้องกันได้ ”

เก๊กฮวย ดอกไม้เทวดา สรรพคุณเป็นยา

เก๊กฮวย ดอกไม้เทวดา สรรพคุณเป็นยา

 

 

เก๊กฮวย เป็นดอกไม้เทวดาแสนสวย อยู่ในตระกูลเดียวกับดอกทานตะวันและดอกดาวเรือง หรือเรียกในภาษาไทยว่า เบญจมาศสวน หรือเบญจมาศหนู โดยมีอยู่หลายสายพันธุ์ทั้งดอกเหลือง ดอกขาวนับเป็นดอกไม้สมุนไพรที่มีคุณสมบัติเป็นยารักษาโรคต่างๆ ได้สารพัด ดอกเก๊กฮวยได้รับความนิยมนำมาต้มเป็นน้ำสมุนไพร หรือทำเป็นชาร้อนผสมเก๊กฮวย เนื่องจากมีประโยชน์อยู่หลายประการ ได้แก่ เป็นยาที่มีฤทธิ์เย็นช่วยดับพิษร้อนในร่างกาย แก้ร้อนใน มีกลิ่นเฉพาะตัวที่หอมสดชื่น แก้กระหายน้ำ ช่วยระบบย่อยอาหารให้ทำงานได้ดีโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อดื่มขณะร้อน  นอกจากนี้ ยังมีส่วนช่วยลดระดับความดันโลหิต และยังช่วยป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือดได้อีกด้วย

 

เคล็ดลับเข้าครัวด้วยตัวเอง วิธีการทำน้ำเก๊กฮวย

  1. ล้างดอกเก๊กฮวยแห้งให้สะอาด ใส่น้ำให้ท่วม ตั้งไฟให้เดือด
  2. สามารถใส่สมุนไพรจีน ตัวอื่นๆ เสริมได้ เช่น ลูกพุดจีน พุทราจีน หล่อฮั่งก๊วย ใบชา เป็นต้น
  3. กรองดอกเก๊กฮวยและสมุนไพรอื่นๆออกโดยใช้ตะแกรงหรือผ้าขาวบาง
  4. เติมน้ำตาลหรือน้ำเชื่อมเพื่อเพิ่มรสชาติได้ สามารถดื่มร้อนหรือใส่น้ำแข็งจะชื่นใจมากขึ้น

 

ข้อควรระวัง

- การกรองดอกเก๊กฮวยออกห้ามบี้เด็ดขาด เพราะจะทำให้น้ำมีรสขมได้

- ถ้าต้มน้ำดอกเก๊กฮวยแล้วเปรี้ยว สาเหตุอาจมาจากการใส่ดอกเก๊กฮวยมากเกินไป หรือการใช้เวลาต้มนานจนเกินไป

- การเติมน้ำตาลเพื่อให้มีรสชาติหวานชื่นใจเพิ่มขึ้นนั้น ต้องคำนึงถึงปริมาณที่ไม่มากเกินไปด้วย

โดยน้ำสมุนไพร 1 ถ้วย (250 มิลลิลิตร) ไม่ควรเติมน้ำตาลเกิน 1-2 ช้อนชา และควรนึกถึงเสมอว่าคำแนะนำปริมาณการบริโภคน้ำตาลที่เหมาะสมคือไม่เกิน 6 ช้อนชาต่อวัน

- การเลือกซื้อน้ำเก๊กฮวยพร้อมดื่มบรรจุขวด ควรอ่านฉลากโภชนาการเพื่อพิจารณาถึงพลังงานและน้ำตาลที่จะได้รับด้วย

 

เอกสารอ้างอิง

1. วิเชียร ตั้งธนานุวัฒน(2554) มหัศจรรย์สมุนไพรเครื่องยาจีนเพื่อสุขภาพ. กรุงเทพฯ : อนิเมทกรุ๊ป

2. วิทยา บุญวรพัฒน์ (2554) สารานุกรมสมุนไพรไทย-จีนที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. พิมพ์ครั้งที่1. กรุงเทพ : สมาคมศาสตร์การแพทย์แผนจีนในประเทศไทย

 

 8401
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์