“ ด้วยเชื่อมั่นว่าโรคหัวใจและหลอดเลือดสามารถป้องกันได้ ”

ดับกระหาย ชื่นใจ ด้วยเฉาก๊วยสุขภาพ

ดับกระหาย ชื่นใจ ด้วยเฉาก๊วยสุขภาพ

 

เฉาก๊วยเป็นเมนูขนมหวานที่คนไทยรู้จักกันดี หากิน หาซื้อได้ง่าย และมีราคาถูก ปัจจุบันมีกระแสที่มาแรงคือเฉาก๊วยฟิวชั่น (คือเกิดการผสมผสานทางวัฒนธรรมอาหาร) เกิดขึ้นหลายเมนูทีเดียว เช่น เฉาก๊วยนมสด เฉาก๊วยธัญพืช วุ้นเฉาก๊วย เป็นต้น แม้ว่าทุกคนจะรู้จักว่าเฉาก๊วยมีสรรพคุณ คือ คลายร้อนดับกระหาย แต่รู้หรือไม่ว่าประโยชน์ของเฉาก๊วยมีมากกว่านั้น

 

เฉาก๊วย พืชชนิดหนึ่งในตระกูลเดียวกับใบสะระแหน่ ปลูกมาก พบได้มากในประเทศจีน จึงทำให้เฉาก๊วยมีแหล่งกำเนิดมาจากเมืองจีน ภาษาไทยเรียก"เฉาก๊วย"ตามภาษาจีนแต้จิ๋ว สรรพคุณที่เด่นๆ ของเฉาก๊วยคือเมื่อนำมาเคี่ยวและต้มกินจะช่วยแก้ร้อนใน กระหายน้ำ มีฤทธิ์เย็นช่วยทำให้ภายในร่างกายเย็นไปด้วย นอกจากนี้ ยังมีสรรพคุณเป็นยาช่วยขับเสมหะ ช่วยลดบรรเทาอาการไข้ และงานวิจัยเมื่อไม่นานมานี้ พบว่าเฉาก๊วยอาจจะสามารถช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ หากว่านำเฉาก๊วยมาต้มให้เดือดแล้ว นำน้ำเฉาก๊วยมาดื่มเป็นประจำ จะมีส่วนช่วยบรรเทาอาการความดันโลหิตสูง และสามารถควบคุมระดับน้ำตาล ซึ่งดีต่อผู้ป่วยโรคเบาหวานได้

 

 

เคล็ดลับเข้าครัวง่ายๆ วิธีการทำเฉาก๊วย

  1. นำหญ้าเฉาก๊วยแห้งมาล้างให้สะอาด ใส่น้ำให้ท่วม ใส่โซดาผง นำไปต้มด้วยไฟปานกลาง ใช้เวลาเคี่ยวประมาณ 1 ชั่วโมง จะได้น้ำเฉาก๊วยที่ดำ
  2. ปิดไฟ รอให้เย็น แล้วจึงนำมากรองเอากากออก สามารถนำน้ำเฉาก๊วยมาดื่มได้หรือถ้าอยากขึ้นรูปเป็นก้อนให้ทำตามลำดับต่อไป
  3. เติมแป้งท้าวยายม่อมหรือมันสำปะหลังลงไปเล็กน้อย เพื่อช่วยให้เฉาก๊วยแข็งตัวเป็นก้อนมากขึ้น
  4. เมื่อขึ้นรูปแล้ว สามารถตักใส่ชามเติมน้ำตาล ใส่น้ำแข็งจะยิ่งชื่นใจมากขึ้น

 

คุณค่าทางโภชนาการของเฉาก๊วยในน้ำเชื่อม ปริมาณ 250 กรัม
พลังงาน 80-100 กิโลแคลอรี
คาร์โบไฮเดรตทั้งหมด 20 กรัม
น้ำตาล 18 กรัม

*หากมีการเพิ่มนมสด เพิ่มน้ำตาล เพิ่มธัญพืช เพิ่มไอศกรีม พลังงานก็จะเพิ่มขึ้นด้วยนะจ้ะ

 

หมายเหตุ การเติมน้ำตาลเพื่อให้มีรสชาติหวานชื่นใจเพิ่มขึ้นนั้น ต้องคำนึงถึงปริมาณที่ไม่มากเกินไปด้วย

โดยน้ำสมุนไพร 1 ถ้วย (250 มิลลิลิตร) ไม่ควรเติมน้ำตาลเกิน 1-2 ช้อนชา และควรนึกถึงเสมอว่าคำแนะนำปริมาณการบริโภคน้ำตาลที่เหมาะสมคือไม่เกิน 6 ช้อนชาต่อวัน

 

 

เอกสารอ้างอิง

1. วิเชียร ตั้งธนานุวัฒน์(2554) มหัศจรรย์สมุนไพรเครื่องยาจีนเพื่อสุขภาพ. กรุงเทพฯ : อนิเมทกรุ๊ป

2. วิทยา บุญวรพัฒน์ (2554) สารานุกรมสมุนไพรไทย-จีนที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. พิมพ์ครั้งที่1. กรุงเทพ : สมาคมศาสตร์การแพทย์แผนจีนในประเทศไทย

 

 1056
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์