“ ด้วยเชื่อมั่นว่าโรคหัวใจและหลอดเลือดสามารถป้องกันได้ ”

คอเลสเตอรอล นางเอก vs นางร้าย

คอเลสเตอรอล นางเอก vs นางร้าย

 

 

คอเลสเตอรอลเป็นไขมันชนิดหนึ่งซึ่งมีความสำคัญต่อร่างกาย เป็นส่วนประกอบสำคัญในโครงสร้างเซลล์และเยื่อหุ้มเซลล์ ร่างกายก็จำเป็นต้องมีคอเลสเตอรอลอยู่บ้าง ในระดับที่เหมาะสมจึงจะทำให้ระบบต่างๆทำงานได้ปกติและมีประสิทธิภาพ คอเลสเตอรอลในร่างกายมนุษย์ มาจาก 2 แหล่ง ได้แก่ จากการสังเคราะห์ขึ้นมาจากตับของร่างกายเราเอง และจากการรับประทานอาหารที่ประกอบด้วยไขมันที่มาจากสัตว์

 

คอเลสเตอรอลแบ่งเป็น  3  ชนิดหลักๆ ตามขนาดของโมเลกุลไขมันและความหนาแน่นของโปรตีนไขมัน ดังนี้

 

1.คอเลสเตอรอลโปรตีนไขมันหนาแน่นต่ำ หรือ Low density lipoprotein หรือ LDL

มีส่วนประกอบของคอเลสเตอรอลในปริมาณสูง เมื่อถูกดูดซึมเข้าสู่ระบบไหลเวียนในหลอดเลือดแดง จะเกิดปฏิกิริยาออกซิเดซันทำให้เกิดภาวะอักเสบภายในหลอดเลือดแดงอย่างต่อเนื่อง จะทำให้เกิดตะกรันในหลอดเลือด ส่งผลให้หลอดเลือดขาดความยืดหยุ่นหรือแข็ง หากมีมากเกินไป จะทำให้หลอดเลือดแดงขนาดกลางถึงใหญ่แข็ง เป็นสาเหตุของโรคหัวใจ ซึ่งอาจส่งผลทำให้เลือดไปเลี้ยงหัวใจไม่เพียงพอ เป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิตกะทันหัน หรือกลายเป็นอัมพฤกษ์อัมพาตได้

 

2.คอเลสเตอรอลโปรตีนไขมันหนาแน่นต่ำมาก  หรือ Very Low density lipoprotein หรือ VLDL

คอเลสเตอรอลชนิดนี้จะขนย้ายไขมันที่สะสมในตับไปใช้งานทั่วไปของร่างกาย  เมื่อกรดไขมันส่วนใหญ่ถูกกำจัดออกไปแล้วจะกลายเป็นคอเลสเตอรอลโปรตีนไขมันหนาแน่นต่ำ หรือ LDL ต่อไป

 

3.คอเลสเตอรอลโปรตีนไขมันหนาแน่นสูง หรือ High density lipoprotein หรือ HDL

มีหน้าที่เหมือนเป็นพนักงานทำความสะอาดในหลอดเลือด จะทำหน้าที่ขนส่งคอเลสเตอรอลจากส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย และนำคอเลสเตอรอลส่วนเกินในกระแสเลือดไปเก็บไว้ที่ตับและขับออกจากร่างกาย ช่วยปกป้องหัวใจและหลอดเลือด ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ การมีระดับคอเลสเตอรอลชนิดนี้สูงจะลดความเสี่ยงของโรคเส้นเลือดหัวใจตีบตันได้ และนอกจากการรับประทานอาหารที่เหมาะสมแล้ว การออกกำลังกายอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3  ครั้ง ครั้งละไม่ต่ำกว่า 30 นาที ก็ช่วยทำให้ระดับ HDL เพิ่มขึ้นได้

 

          ปัญหาภาวะไขมันในเลือดเหล่านี้สามารถเกิดได้กับทุกคน ในทุกเพศ ทุกวัย โดยเฉพาะวัยทำงานและผู้สูงอายุ ที่มักจะมีปัจจัยเสี่ยงเพิ่มขึ้นอันเนื่องมาจากความเครียดในการทำงาน ขาดการออกกำลังกาย หรือการรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสม ทำให้มีโอกาสเกิดภาวะไขมันในเลือดสูงมีมากกว่าคนทั่วไป สำหรับคนที่อยากรู้ว่าตัวเองมีไขมันในเลือดอยู่ในระดับปกติหรือไม่  ผลวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์จะสามารถบอกได้ โดยการตรวจวัดปริมาณไขมันในเลือดหลังงดอาหารไม่น้อยกว่า 12 ชั่วโมง ค่ามาตรฐาน หรือ ค่าอ้างอิงสากลที่ถูกกำหนดขึ้นโดย National Cholesterol Education Program (NCEP) สำหรับคนปกติ ควรมีระดับไขมันในเลือดดังนี้ คอเลสเตอรอลรวม (Total Cholesterol) น้อยกว่า 200 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ค่าคอเลสเตอรอลชนิด LDL-C น้อยกว่า100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ค่าคอเลสเตอรอลชนิดHDL-C มากกว่า 40 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร แลค่าไขมันไตรกลีเซอร์ไรด์ TG น้อยกว่า 150 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร

              นอกจากนี้ ผลการวิจัยพบว่าในคนที่มีภาวะไขมันในเลือดสูงเมื่อคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี หรือ LDL ลดลง 1 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ความเสี่ยงโรคหัวใจจะลดลง 1 % ในทางกลับกันถ้าหากเพิ่มขึ้น  1 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร  ความเสี่ยงโรคหัวใจกำเริบเพิ่มขึ้น 1 % และหากคอเลสเตอรอลชนิดดี หรือ HDL เพิ่มขึ้นเพียง  1  มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร อัตราการเสี่ยงของโรคหัวใจก็จะลดลง 3 % 

 

หากเรารู้ระดับคอเลสเตอรอลของตนเอง ก็จะสามารถดูแลระดับคอเลสเตอรอลในเลือดให้ดีได้

และช่วยให้มีสุขภาพหัวใจและร่างกายที่แข็งแรงนะคะ

 

 

เอกสารอ้างอิง

National Cholesterol Education Program. (2001). ATP III guidelines at-a-glance quick desk reference. [Bethesda, Md.] :[National Institutes of Health, National Heart, Lung, and Blood Institute],

 

 353
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์