“ ด้วยเชื่อมั่นว่าโรคหัวใจและหลอดเลือดสามารถป้องกันได้ ”

ครัวปลอดเชื้อ...อาหารปลอดภัย

ครัวปลอดเชื้อ...อาหารปลอดภัย

        เมื่อให้นึกถึงภาพการปรุงประกอบอาหาร ก่อนนำมาจัดสำรับเสิร์ฟสมาชิกในครอบครัวได้รับประทานอย่างมีความสุข คงจะหนีไม่พ้นภาพของห้องครัวที่บ้านอย่างแน่นอน แล้วคุณเองมั่นใจมากแค่ไหนว่า ห้องครัวที่บ้านคุณ ปราศจากเชื้อโรค สัตว์พาหะนำโรค และปราศจากสิ่งสกปรกปนเปื้อนในอาหารจานอร่อยของคุณ เพราะการปนเปื้อนทางเคมี ทางกายภาพ ทางชีวภาพส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้น มักเกิดระหว่างการปรุงประกอบอาหาร เราจะมั่นใจได้อย่างไร ว่าอาหารที่ตั้งใจทำออกมานั้น ไม่มีการปนเปื้อนของเชื้อโรค สารเคมี สารพิษ หรือสัตว์นำโรค

 

ข้อแนะนำการจัดสถานที่และอุปกรณ์ในห้องครัวให้ถูกสุขลักษณะอนามัย ดังนี้      

1. การระบายอากาศและการระบายกลิ่น หากชอบทำอาหารที่มีกลิ่นฉุน ควรแยกครัวออกจากตัวบ้าน  วางผังครัวให้ลงที่ด้านหลังบ้าน ให้มีลมพัดอากาศถ่ายเทหรือเพดานสูง และควรอยู่ในทิศที่แสงแดดส่องถึง เพราะแสงแดดจะช่วยฆ่าเชื้อโรค ลดความชื้น หากมีพื้นที่ครัวจำกัดควรพิจารณาถึงการติดเครื่องดูดควันและกลิ่นไว้ด้วย หรือการปลูกไม้กระถาง เช่น พวกพลู เฟิร์น แคคตัส นอกจากจะช่วยฟอกอากาศและดูดกลิ่นแล้ว และยังสร้างความสดชื่น

2. การเลือกใช้วัสดุสำหรับปูพื้นครัวควรเป็นพื้นเรียบ ไม่ลื่น ไม่ดูดซับไอน้ำมัน ไม่เก็บกลิ่น แข็งแรง ไม่แตกหักง่ายและง่ายต่อการทำความสะอาด เช่น กระเบี้องเซรามิก หินแกรนิต หินธรรมชาติ เพราะคราบดำหรือคราบสกปรกที่เกิดขึ้น เป็นแหล่งเพาะเชื้อของแบคทีเรียก่อโรคได้

3. หลีกเลี่ยงผ้าม่าน พรม โคมไฟ เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นตัวเก็บกลิ่น เก็บเชื้อโรค ดูดซับไอน้ำมันได้ดี

4. ไม่ควรวางเตาไฟให้ใกล้หน้าต่าง เพราะฝุ่นละอองจากด้านนอกอาจหล่นลงสู่อาหารได้ 

5. ตู้ใต้เคาน์เตอร์ที่เก็บภาชนะหรือวัตถุดิบของแห้ง ควรมีช่องระบายอากาศป้องกันความชื้น และควรมีตะแกรงมุ้งลวดเพื่อป้องกันสัตว์พาหะนำโรค

6. เครื่องปรุงรส  เช่น หอมกระเทียม พริกแห้ง ลองหาตะกร้าโปร่ง มีหู้หิ้วมาใส่ แขวนไว้บนผนังป้องกัน มด แมลง และหนูที่จะมารบกวน

7. อุปกรณ์ทำครัว เช่น กระทะ ตะหลิว ทัพพี มีด ควรเลือกที่เป็นสแตนเลส ซึ่งไม่เป็นสนิม แข็งแรงทนทาน ทำความสะอาดง่าย เขียงควรใช้เป็นเขียงไม้ แยกเขียงหั่นเนื้อ หั่นผัก ไม่ปนกัน ใช้แล้วล้าง นำไปตากแดดให้แห้ง

8. การทำความสะอาด ควรทำทันทีหลังทำครัวเสร็จ เพื่อสุขลักษณะอนามัยที่ดี และการทิ้งขยะ ใช้ถังฝาปิดป้องกันกลิ่นและแมลงซึ่งอาจเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรคได้ และควรทิ้งขยะทุกวัน

9. ติดตั้งถังดับเพลิง ผ้าห่มดับเพลิง ในห้องครัว เผื่อกรณีไฟไหม้ฉุกเฉินที่ไม่คาดคิด

10. หากมีเวลาลองปลูกเป็นแปลงพืชผักสวนครัวปลอดภัยไร้สารพิษประจำบ้าน เช่น พริกขี้หนู ตะไคร้ ใบมะกรูด ถั่วงอก เป็นต้น

 

        เมื่อห้องครัว อุปกรณ์สะอาดปลอดเชื้อแล้ว ก็จะทำให้อาหารที่ปรุงมาปลอดภัยดีต่อสุขภาพ ปราศจากเชื้อโรคด้วย ทีนี้ก็มั่นใจได้ว่าจะไม่ทำให้เกิดอาหารเป็นพิษหรือท้องเสียได้แน่นอน

       

 

เอกสารอ้างอิง

ภูมรินทร์  ณ วิเชียร (2560) ครัวปลอดเชื้อ, นิตยสาร Health Today ฉบับที่ 190 กุมภาพันธ์ 2560

 429
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์