“ ด้วยเชื่อมั่นว่าโรคหัวใจและหลอดเลือดสามารถป้องกันได้ ”

กินอาหารตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ตอนที่ 1

กินอาหารตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ตอนที่ 1

 

 

“...พอเพียง มีความหมายกว้างขวางยิ่งกว่านี้อีก คือคำว่าพอ ก็พอเพียงนี้ก็พอแค่นั้นเอง คนเราถ้าพอในความต้องการก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อยก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย ถ้าประเทศใดมีความคิดอันนี้ มีความคิดว่าทำอะไรต้องพอเพียง หมายความว่าพอประมาณ ซื่อตรง ไม่โลภอย่างมาก คนเราก็อยู่เป็นสุข พอเพียงนี้อาจจะมี มีมากอาจจะมีของหรูหราก็ได้ แต่ว่าต้องไม่ไปเบียดเบียนคนอื่น...”
พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๑ ณ ศาลาดุสิดาลัย

 

ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง แนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่พระราชทานมานานกว่าหลายสิบปี เป็นแนวคิดที่ตั้งอยู่บนรากฐานของวัฒนธรรมไทย เป็นแนวทางการพัฒนาที่ตั้งบนพื้นฐานของทางสายกลาง และความไม่ประมาท คำนึงถึงความพอประมาณ ความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันในตัวเอง ตลอดจนใช้ความรู้และคุณธรรม เป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิตที่สำคัญจะต้องมีสติ ปัญญา และความเพียรซึ่งจะนำไปสู่ความสุขในการดำเนินชีวิตอย่างแท้จริง

 

ในบทความนี้ มีความตั้งใจนำเสนอกินอาหารตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ดังนี้

พอประมาณ ปรับพฤติกรรมการกินอาหารเพื่อให้มีสุขภาพดีโดยึดหลัก 4 พอ คือ พอเหมาะ พอควร พอดี พอเพียง เพื่อให้ได้พลังงานและสารอาหารเพียงพอกับความต้องการของร่างกายในแต่ละวัน และใช้จ่ยอย่างเหมาะสมพอเพียงกับฐานะความเป็นอยู่ของแต่ละบุคคล

ความพอประมาณในการกินอาหาร หมายถึงอะไรได้บ้าง

-หยุดกินเมื่อรู้สึกเริ่มจะอิ่ม ถึงแม้ว่าอาหารนั้นจะอร่อยมากก็ตาม พยายามตัดความอยากให้ได้

-หมั่นดูแลน้ำหนักตัวและสำรวจร่างกาย ซึ่งเป็นวิธีที่ง่ายที่จะบอกเราว่ากินน้อยไป พอดี หรือมากไป

-เลือกซื้ออาหารเพื่อสุขภาพ ปริมาณให้เพียงพอรับประทาน ไม่เหลือทิ้งขว้าง

-พิจารณาราคาอาหารพอประมาณ ไม่แพงเกินไป หรือแพงจนต้องเดือดร้อนตนเองและครอบครัว

 

ความมีเหตุผล ก่อนกิน ก่อนดื่ม ก่อนซื้ออาหาร ให้ถามตัวเองว่า กินหรือดื่มหรือซื้อเพราะอะไร เหตุผลที่ดีคือ เพราะหิวหรือกระหาย นั่นเป็นคุณค่าแห่งอาหารที่แท้จริง เพราะคุณค่าแท้ของอาหารคือทำให้อิ่ม ช่วยบำรุงร่างกายให้มีชีวิตเป็นปกติ หากเหตุผลคือเพราะอยากกิน อร่อย อดใจไม่ไหว เสียดาย ความเกรงใจต่อคนให้หรือคนปรุงอาหาร หรืออื่นๆ นั้นเป็นคุณค่าเทียมแก่อาหารนั้น ซึ่งอาจจะไม่เป็นผลดีนัก

เทคนิคการถามหาเหตุผลที่แท้จริงง่ายๆ ได้แก่

-อาหารเช้าเป็นมื้อสำคัญยังไงก็ต้องหารับประทานให้ได้ ไม่ว่าจะหิวหรือไม่ก็ตาม

-อาหารที่จะกินนั้นมีความจำเป็นและมีคุณค่าต่อร่างกายหรือไม่ มีผักผลไม้เพียงพอไหม มีไขมันมากไปหรือไม่

-ปริมาณที่ซื้อที่กินต้องมีเหตุผลว่าพอเหมาะพอเพียงหรือไม่ ไม่มากหรือน้อยเกินไป ราคาสมเหตุสมผลหรือไม่

 

การสร้างภูมิคุ้มกันในตัวดี การมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี  หมายถึง มีการเตรียมตัวให้พร้อมทั้งร่างกายและจิตใจ ที่จะรับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น โดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ของสถานการณ์ต่างๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตทั้งใกล้และไกล เช่น

-ต้องมีสุขภาพดีทั้งกายและใจ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ทำจิตใจให้สงบ จัดการปรับอารมณ์ให้พร้อม

-เตรียมรับมือกับความเสี่ยงต่างๆ อย่างมีสติ มีการวางแผนในการจับจ่ายซื้อของ มีเงินออมเพียงพอ

-วางแผนปลูกผักสวนครัวรั้วกินได้ หาซื้ออาหารปลอดภัยจากแหล่งผู้ผลิตที่น่าเชื่อถือ

-มีความรู้และทักษะในการเลือกซื้อเลือกกินอาหารอย่างถูกต้องเหมาะสม มีจุดยืนของตัวเองและรู้เท่าทัน เพื่อไม่ตกเป็นเหยื่อของการโฆษณาที่ชอบให้หลงซื้อมาบริโภคโดยไม่จำเป็นต่อร่างกาย

 

ตามปรัชญาหลักเศรษฐกิจพอเพียง นอกจากจะต้องคำนึงถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันในตัวเองแล้วยังต้องนำอีกสองเงื่อนไข เข้ามาพิจารณาประกอบ นั่นคือ การใช้ความรู้และคุณธรรมเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิตโดยจะพูดถึงเป็นลำดับต่อไปใน บทความกินอาหารตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ตอนที่ 2” ค่ะ

 

 

เอกสารอ้างอิง

สง่า ดามาพงษ์ และคณะ (2551) กินให้มีสุข ยุคอาหารแพง, โรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก: กรุงเทพฯ

มูลนิธิชัยพัฒนา, จุดเริ่มต้นแนวเศรษฐกิจพอเพียง ข้อมูลจากเว็บไซต์ http://www.chaipat.or.th/site_content/34-13/3579-2010-10-08-05-24-39.html

        

 

 

 

 9866
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์