“ ด้วยเชื่อมั่นว่าโรคหัวใจและหลอดเลือดสามารถป้องกันได้ ”
  • หน้าแรก

  • อาหาร

  • รู้ยัง...กินข้าวคนเดียวเหงาๆ อาจเสี่ยงต่อโรคซึมเศร้าและโรคอ้วน

รู้ยัง...กินข้าวคนเดียวเหงาๆ อาจเสี่ยงต่อโรคซึมเศร้าและโรคอ้วน

  • หน้าแรก

  • อาหาร

  • รู้ยัง...กินข้าวคนเดียวเหงาๆ อาจเสี่ยงต่อโรคซึมเศร้าและโรคอ้วน

รู้ยัง...กินข้าวคนเดียวเหงาๆ อาจเสี่ยงต่อโรคซึมเศร้าและโรคอ้วน

 

          ในสังคมปัจจุบันผู้คนมีรูปแบบการใช้ชีวิตเปลี่ยนแปลงไป มีครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น มีการแยกตัวมาอยู่อาศัยคนเดียวมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงรูปแบบของสังคมนี้ได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบการรับประทานอาหารไปด้วย สภาพแวดล้อมสังคมมีอิทธิพลต่อการรับประทานอาหารอย่างเห็นได้ชัด การรับประทานอาหารร่วมกับผู้ที่รับประทานอาหารในปริมาณมากทำให้เรามีแนวโน้มที่จะรับประทานอาหารมากตามไปด้วย และการรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่นทำให้เรารับประทานอาหารที่หลากหลาย และใส่ใจกับการเลือกรับประทานอาหารมากขึ้น ซึ่งต่างกับผู้ที่ชอบรับประทานอาหารคนเดียว ผู้ที่รับประทานอาหารคนเดียวอาจจะเลือกรับประทานอาหารที่ง่ายๆ อย่างอาหารกึ่งสำเร็จรูป อาหารแช่แข็งหรืออาหารปรุงพร้อมเสิร์ฟที่มักมีพลังงานสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มคนที่ตกอยู่ในภาวะโดดเดี่ยวจากสังคม ที่อาจจะขาดแรงจูงใจในการใช้ชีวิต ทำให้เลือกรับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการต่ำ มีความเครียดสะสมที่ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ เบาหวานชนิดที่ 2 และความดันโลหิตสูงตามมา

          จากการศึกษากลุ่มประชากรประเทศเกาหลีใต้ 7,725 คน พบว่าผู้ที่รับประทานอาหารคนเดียวมากกว่า 2 มื้อต่อวัน มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูงและมีภาวะคอเรสเตอรอลในเลือดสูง เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่รับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่นเสมอ โดยมีความสัมพันธ์ชัดเจนในกลุ่มประชากรผู้ชายมากกว่าผู้หญิง  ผู้ชายที่รับประทานอาหารคนเดียวเป็นประจำมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคอ้วนมากขึ้น 45 % และเสี่ยงต่อการเกิดโรคที่เกี่ยวข้องกับการเผาพลาญพลังงานมากขึ้น 64% ในขณะที่ผู้หญิงในกลุ่มเดียวกันมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น 29% นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยอื่นๆแสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างการรับประทานอาหารคนเดียวกับภาวะซึมเศร้า โรคอ้วน ภาวะน้ำหนักเกินเกณฑ์หรือต่ำกว่าเกณฑ์ รวมถึงมีพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ผิดปกติอย่างภาวะอะนอเร็กเซียและบูลิเมีย

          บางครั้งการรับประทานอาหารคนเดียวอาจจะเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ แต่การดูแลใส่ใจสุขภาพของตนเองเป็นสิ่งที่สามารถทำได้เสมอ แม้จะต้องรับประทานอาหารคนเดียวก็ควรจะใส่ใจกับคุณค่าของอาหารที่เลือกรับประทาน เลือกรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการ เพิ่มการรับประทานผักและผลไม้ และหากมีโอกาสก็ควรลองไปร่วมรับประทานอาหารกับผู้อื่น คุณอาจจะได้ลองรับประทานอาหารที่ไม่เคยรับประทาน ได้เมนูโปรดเมนูใหม่และอาจจะได้เทคนิคในการดูแลสุขภาพจากผู้อื่นมาอีกด้วย

 

เอกสารอ้างอิง

          Kwon AR, et al. Eating alone and metabolic syndrome: A populationbased Korean National Health and Nutrition Examination Survey 2013—2014. Obes Res Clin Pract (2017),http://dx.doi.org/10.1016/j.orcp.2017.09.002 ORCP-687; No. of Pages 12.

 399
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์