“ ด้วยเชื่อมั่นว่าโรคหัวใจและหลอดเลือดสามารถป้องกันได้ ”

ละเลยมื้อเช้า ระวังโรคภัยถามหา

ละเลยมื้อเช้า ระวังโรคภัยถามหา

       ปัญหาสุขภาพอย่างเช่นโรคเบาหวาน โรคอ้วน โรคความดันโลหิตสูงและปริมาณไขมันในเลือดผิดปกติถือเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือดทั้งนั้น อย่างไรก็ดี ยังมีวิธีที่สามารถป้องกันและบรรเทาความรุนแรงลงได้ด้วยการปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิต ได้แก่ การรับประทานอาหารและการออกกำลังกายอย่างเหมาะสม การเลือกรับประทานอาหารอย่างเหมาะสมไม่ได้หมายถึงเรื่องของคุณค่าด้านโภชนาการของอาหารเพียงอย่างเดียว แต่หมายรวมถึงช่วงเวลาที่รับประทานอาหารด้วย ซึ่งมักจะถูกละเลย ถูกมองข้ามทำให้รับประทานอาหารไม่เป็นเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรับประทานอาหารมื้อแรกของวันหลังจากการนอนหลับซึ่งเป็นภาวะที่ร่างกายอยู่ในช่วงอดอาหารมาเป็นเวลานานเป็นมื้ออาหารที่มีความสำคัญมาก

        การศึกษาจำนวนมาก รายงานผลว่าการรับประทานมื้อเช้ามีผลต่อการลดระดับน้ำตาลในเลือดและฮอร์โมนที่ควบคุมความหิว-ความอยากอาหาร ช่วยให้คนเรารักษาสมดุลในการรับประทานอาหาร ไม่รับประทานอาหารเกินความจำเป็นของร่างกาย การศึกษาของสมาคมโรคหัวใจแห่งสหรัฐอเมริกายังได้แนะนำว่าการรับประทานอาหารพลังงานสูงในช่วงเช้า มีแนวโน้มที่ก่อให้เกิดประโยชน์ในการป้องกันโรคหัวใจ เบาหวานและความดันโลหิตสูง การศึกษาของ Irina Uzhova และคณะ ที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Journal of The American College of Cardiology ปี 2017 ได้ศึกษาถึงความสำคัญของการรับประทานมื้อเช้ากับการเกิดโรคหลอดเลือดแดงแข็ง ในกลุ่มประชากร 4,052 คน พบว่าในกลุ่มประชากรที่รับประทานอาหารเช้าที่มีพลังงานสูง (รับประทานอาหารเช้าที่มีพลังงานมากกว่าร้อยละ 20 ของพลังงานที่ควรได้รับทั้งวัน หรือมากกว่า 400 กิโลแคลอรี่) ได้รับปริมาณใยอาหาร ปริมาณผักและผลไม้มากกว่า ขณะที่ได้รับปริมาณน้ำตาล ไขมันและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์น้อยกว่าเมื่อเทียบกับกลุ่มที่รับประทานอาหารเช้าพลังงานต่ำหรือไม่รับประทานเลย และในกลุ่มผู้ที่รับประทานอาหารมื้อเช้าที่มีพลังงานสูงมักได้รับพลังงานรวมจากอาหารทั้งวันน้อยกว่าผู้ที่งดมื้อเช้าด้วย ในกลุ่มผู้เข้าร่วมที่ไม่รับประทานอาหารเช้ามีปริมาณน้ำหนักตัว เส้นรอบเอว ค่าไขมันในเลือดที่ผิดปกติ และระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่ากลุ่มผู้ที่รับประทานอาหารเช้า และจากการศึกษาพบว่าผู้ที่ไม่รับประทานอาหารเช้าเป็นประจำ มีความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 โรคหลอดเลือดหัวใจและภาวะเลือดออกในสมอง มากขึ้นถึงร้อยละ 21, 27 และ36 ตามลำดับ  และมีอัตราเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดแดงแข็งมากขึ้น 1.5-2.6 เท่า

        ดังนั้น แม้ว่าช่วงเวลาตอนเช้าอาจจะเป็นช่วงเวลาที่เร่งรีบของใครหลายคนจึงอาจจะทำให้ละเลยการรับประทานมื้อเช้า แต่เมื่อรู้ถึงความสำคัญของมื้อเช้าอย่างนี้แล้ว ลองหันมาปรับเปลี่ยนรูปแบบการรับประทานอาหาร ให้ความสำคัญกับการรับประทานมื้อเช้ามากขึ้น อาจจะเลือกรับประทานอาหารเช้าง่ายๆและสะดวก เช่น แซนด์วิชขนมปังธัญพืชกับน้ำผลไม้ 100% หรือนมสักหนึ่งกล่อง เป็นต้น เพื่อช่วยควบคุมระบบควบคุมความอยากอาหารของร่างกาย ป้องกันไม่ให้ร่างกายรับประทานอาหารมากเกินในมื้ออื่นๆหรือรับประทานขนมขบเคี้ยวตลอดทั้งวันจนทำให้ได้รับพลังงานเกินกว่าที่ร่างกายต้องการ

 

เอกสารอ้างอิง

-Cahill LE, Chiuve SE, Mekary RA, et al. Prospective study of breakfast eating and incident coronary heart disease in a cohort of male US health professionals. Circulation 2013;128:337–43.

-Irina Uzhova, Valentín Fuster, Antonio Fernández-Ortiz, José M. Ordovás, Javier Sanz, Leticia Fernández-Friera, Beatriz López-Melgar, José M. Mendiguren, Borja Ibáñez, Héctor Bueno. The Importance of Breakfast in Atherosclerosis Disease. Journal of the American College of Cardiology, Volume 70, Issue 15, Pages 1833-1842.

-Kubota Y, Iso H, Sawada N, Tsugane S, JPHC Study Group. Association of breakfast intake with incident stroke and coronary heart disease. Stroke 2016;47:477–81.

-St-Onge MP, Ard J, Baskin ML, et al. Meal timing and frequency: implications for cardiovascular disease prevention: a Scientific Statement From the American Heart Association. Circulation 2017; 135:e96–121.

 

 298
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์