“ ด้วยเชื่อมั่นว่าโรคหัวใจและหลอดเลือดสามารถป้องกันได้ ”

อันตรายแฝงจากอาหารในงานเลี้ยง

อันตรายแฝงจากอาหารในงานเลี้ยง

 

เดือนมกราคมเป็นอีกเดือนหนึ่งในปฎิทินที่มีการกินเลี้ยงเฉลิมฉลองเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมทั่วโลก คนมักนิยมรับประทานอาหารและทำกิจกรรมร่วมกันเพื่อสานสัมพันธไมตรี แต่บรรยากาศที่สนุกสนานของงานเลี้ยงอาจจะทำให้หลายคนลืมคำนึงถึงเรื่องคุณค่าทางโภชนาการของอาหารและเครื่องดื่มที่อาจเปลี่ยนความสุขใจเป็นความทุกข์กายได้ในอนาคต บทความนี้เราจึงหยิบยกประเด็นอาหารและเครื่องดื่มที่ควรระวังและแนวทางปฏิบัติเมื่อต้องไปรับประทานอาหารในงานเลี้ยงต่างๆมาฝากกัน

  • อาหารรสชาติถึงใจอาจแฝงด้วยปริมาณโซเดียม น้ำตาลและไขมันสูงเกินควร อาหารส่วนใหญ่รวมถึงเครื่องจิ้มหรือน้ำจิ้ม ซอสต่างๆ ของหวาน ขนมเค้กแห่งการเฉลิมฉลองและเครื่องดื่มต่างๆที่ใช้ในงานจัดเลี้ยงมักมีรสชาติจัดเพื่อให้รสชาติถูกปากคนส่วนมาก และช่วยเสริมสีสันให้แก่งานเลี้ยง ซึ่งอาหารรสชาติจัดมักจะมีปริมาณโซเดียม น้ำตาลหรือไขมันสูงและเป็นที่ทราบกันดีว่าการรับประทานอาหารลักษณะดังกล่าวในปริมาณมากเกินควรเป็นประจำเป็นสาเหตุให้เกิดโรคติดต่อไม่เรื้อรังอย่างโรคอ้วน โรคเบาหวาน และโรคหัวใจและหลอดเลือดได้

วิธีการป้องกัน  ควรรับประทานอาหารต่างๆในปริมาณไม่มาก พยายามเลือกรับประทานเท่าที่พออิ่ม เน้นเลือกรับประทานเมนูที่มีส่วนประกอบของผักและผลไม้ เช่น สลัดหรือผลไม้สด ที่ช่วยให้รู้สึกอิ่มท้อง และเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีพลังงานสูงอย่างอาหารเมนูทอด เช่น ปอเปี๊ยะ มันฝรั่งทอด แกงกะทิต่างๆ  อาหารฝรั่งที่มีครีมไขมัน เช่น ซอสพาสต้า ซุปครีม ลดปริมาณเนื้อสัตว์ติดมัน เช่น ขาหมู หมูสามชั้น เป็นต้น เมนูอาหารใดที่มีซอสหรือน้ำจิ้มเคียง ให้รับประทานปริมาณเล็กน้อย ควรเลือกรับประทานผลไม้มากกว่าขนมหวานนานาชนิด และเลือกดื่มน้ำเปล่าหรือเครื่องดื่มที่ให้พลังงานต่ำ เช่น ชาร้อน น้ำสมุนไพรหวานน้อย แทนการดื่มน้ำหวานที่มีพลังงานและปริมาณน้ำตาลสูงมาก

 

  • การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ปริมาณที่มากเกินควร อาจจะทำให้ผู้ดื่มมึนเมาจนขาดสติและอาจจะก่อให้เกิดอุบัติเหตุกับทั้งตัวผู้ดื่มเองและคนอื่นๆ รวมถึงมีอาการเมาค้าง ปวดศรีษะ วิงเวียนตามมาภายหลัง และแอลกอฮอล์มีฤทธิ์ในการขับปัสสาวะ ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์จึงปัสสาวะบ่อยหากดื่มน้ำไม่เพียงพออาจมีอาการขาดน้ำด้วย

วิธีการป้องกัน  การรับประทานอาหารขณะดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สามารถช่วยลดระดับความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ในกระแสเลือดได้เมื่อเทียบกับการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอลในขณะที่ท้องว่าง และควรดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอเพื่อลดอาการขาดน้ำในร่างกายและลดอาการเมาค้างที่จะตามมา ทั้งนี้ผู้ดื่มควรประคองสติของตนอยู่เสมอและไม่ขับรถเมื่อมีอาการเมาเพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุที่ไม่คาดฝัน

 

สุขสนุกกับงานเลี้ยงได้ แต่ไม่ควรทำลายสุขภาพของเราเองนะคะ

 

เอกสารอ้างอิง

Dale Pinnock (2017)What to eat before, during and after a big night out, Retrieved from http://www.telegraph.co.uk/health-fitness/nutrition/eat-big-night/

Ian Cohen (2017) How to stay fit and still party, Retrieved from https://www.mensfitness.com/nutrition/how-stay-fit-and-still-party

 

 

 372
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์