“ ด้วยเชื่อมั่นว่าโรคหัวใจและหลอดเลือดสามารถป้องกันได้ ”

ชีสกับโรคหัวใจและหลอดเลือด

ชีสกับโรคหัวใจและหลอดเลือด

 

          แม้อาหารตามรูปแบบวัฒนธรรมไทยไม่ได้มีชีสเป็นส่วนประกอบหลัก แต่ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าชีสกำลังเป็นกระแสการรับประทานอาหารของคนรุ่นใหม่ในตอนนี้ ไม่ว่าจะเป็นการนำมาประยุกต์รับประทานร่วมกับอาหารไทยหรือรับประทานตามรูปแบบอาหารตะวันตก ทุกวันนี้เราสามารถเจออาหารเมนูชีสได้ทั้งในร้านอาหารตะวันตกไปจนถึงร้านอาหารริมทาง

 

          ชีสเป็นผลิตภัณฑ์อาหารที่ทำมาจากนมที่ผ่านการบ่มเชื้อจุลินทรีย์ชนิดดีให้ได้เป็นก้อนชีสและแยกส่วนที่เป็นของเหลวออก วิธีและระยะเวลาในการบ่มจะแตกต่างกันตามชนิดของชีส โดยชีส 100 กรัม จะให้พลังงาน 390 กิโลแคลอรี่ ประกอบด้วยคาร์โบไฮเดรต 2 กรัม โปรตีน 25 กรัม และไขมัน 30 กรัม เนื่องจากปริมาณไขมันและพลังงานที่สูงทำให้ชีสถูกมองว่าไม่มีความเหมาะสมด้านโภชนาการนัก แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ในปี 2017 วารสาร European Journal of Nutrition ได้ตีพิมพ์ผลการศึกษาของ Guo Chongchen และคณะที่ได้ศึกษารวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลการรับประทานอาหารของประชากรอเมริกันและชาวยุโรปกว่า 340000 คน และติดตามผลเป็นระยะเวลามากกว่า 10 ปี พบว่า ผู้ที่รับประทานชีสปริมาณ 40 กรัมต่อวัน มีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดลดลง 10% เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่รับประทานชีสเลย ซึ่งอาจจะเป็นผลมาจาก วิตามิน แคลเซียม โพรไบโอติกส์และกรดไขมันชนิดดีอย่างกรดลิโนเลอิคที่มีส่วนช่วยในการลดปริมาณไขมันชนิดไม่ดีและเพิ่มปริมาณไขมันชนิดดีในกระแสเลือด ทั้งนี้การรับประทานชีสปริมาณ 40 กรัม หรือชีสชนิดแผ่นจำนวนหนึ่งแผ่นครึ่ง เป็นปริมาณการรับประทานที่แสดงผลในการลดความเสี่ยงโรคดังกล่าวได้ดีที่สุด การรับประทานชีสมากเกินกว่า 40 กรัมต่อวัน ไม่แสดงผลในการลดความเสี่ยงแต่กลับเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคดังกล่าวมากขึ้นแทน

 

          จะเห็นได้ว่าอาหารทุกอย่างล้วนประกอบด้วยสารอาหารที่ดีและไม่ดีต่อร่างกาย อาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ หากรับประทานในปริมาณที่มากเกินควรก็อาจส่งผลเสียได้และการงดรับประทานอาหารบางชนิดก็อาจจะทำให้ขาดสารอาหารได้ ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ชีสได้มีการปรับปรุงให้มีทั้งสูตรไขมันต่ำและสูตรโซเดียมต่ำที่เป็นตัวเลือกที่ดีกว่าด้านสุขภาพ เช่นกันกับผลิตภัณฑ์อาหารชนิดอื่นๆ การเลือกสูตรของผลิตภัณฑ์จึงเป็นอีกทางหนึ่งที่ช่วยให้คนเราสามารถเลือกรับประทานอาหารอย่างหลากหลายได้

 

 

อกสารอ้างอิง

-FOOD AND AGRICULTURE ORGANIZATION OF THE UNITED NATIONS. (1953). Food composition tables for international use : Milk and cheese. Retrieved on December 16, 2017, from http://www.fao.org/docrep/x5557e/x5557e0p.htm#milk and cheese.

-Chen G, Wang Y, Tong X, et al. (2017). Cheese consumption and risk of cardiovascular disease: a meta-analysis of prospective studies. European Journal of Nutrition, 56(8), 2565-2575.

 928
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์