“ ด้วยเชื่อมั่นว่าโรคหัวใจและหลอดเลือดสามารถป้องกันได้ ”

เลือกไอศกรีมหรือหวานเย็นอย่างไร ให้ถนอมสุขภาพ

เลือกไอศกรีมหรือหวานเย็นอย่างไร ให้ถนอมสุขภาพ

 

            อากาศร้อนๆแบบนี้หลายคนคงคิดถึงการรับประทานไอศกรีมหรือน้ำแข็งไสเย็นๆให้คลายร้อน อาหารรสชาติหวานที่มาพร้อมกับความรู้สึกเย็นชื่นใจ คงน่าเสียดายถ้าต้องงดรับประทานเพราะกังวลว่าจะน้ำหนักขึ้นหรือไม่ดีต่อสุขภาพ  วันนี้เราเลยมีข้อมูลและวิธีการเลือกรับประทานไอศกรีมและหวานเย็น(หรือที่รู้จักกันในนามน้ำแข็งไส ปังเย็น)มาฝาก

            ไอศกรีมโดยทั่วไปแล้วทำมาจากนม ส่วนครีมนมหรือไขมันในนมช่วยให้ทำไอศกรีมมีรสสัมผัสที่นุ่มลิ้น ประกอบกับการแต่งรสชาติด้วยน้ำตาล ไอศกรีมรสชาติหวานมันจึงกลายเป็นอาหารพลังงานสูง ไอศกรีมวานิลลา 100 กรัมให้พลังงาน 207 กิโลแคลอรี่  ซึ่งพลังงานส่วนใหญ่มาจากไขมันและคาร์โบไฮเดรต แต่ปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมก็ได้ผลิตไอศกรีมให้ดีต่อสุขภาพมากยิ่งขึ้น จึงมีผลิตภัณฑ์ไอศกรีมสูตรไขมันต่ำหรือไอศกรีมน้ำตาลต่ำที่มีพลังงานน้อยลงเล็กน้อยให้เลือกรับประทาน นอกจากไอศกรีมรสชาติหวานมันทั่วไปแล้วก็ยังมีไอศกรีมซอร์เบทที่ทำจากผลไม้ต่างๆ ไอศกรีมซอร์เบทจึงมีพลังงานที่ต่ำกว่าไอศกรีมทั่วไปมากและมาพร้อมกับวิตามิน สารต้านอนุมูลอิสระรวมถึงปริมาณน้ำตาลที่สูงด้วย ไอศกรีมซอร์เบทรสส้ม 100 กรัมให้พลังงาน 144 กิโลแคลอรี่ การเลือกรับประทานไอศกรีมประเภทนี้จึงควรพิจารณาปริมาณน้ำตาลเป็นพิเศษ เพราะอาจจะมีทั้งน้ำตาลที่มาจากผลไม้ น้ำตาลที่มาจากการเติมแต่งรสชาติรวมถึงสารให้ความหวานต่างๆที่แม้ให้พลังงานเล็กน้อยหรือไม่ให้พลังงานเลยแต่ก็อาจจะมีผลข้างเคียงได้ โยเกิร์ตแช่แข็งหรือ Frozen yogurt ก็เป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่เป็นที่นิยมในหมู่คนรักสุขภาพ เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าโยเกิร์ตประกอบด้วยแคลเซียมและจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย โยเกริ์ตรสธรรมชาติ 100 กรัม ให้พลังงาน 84 กิโลแคลอรี่

            น้ำแข็งไส ขนมปังเย็น ที่อาจจะดูมีพลังงานน้อยกว่าไอศกรีม เนื่องจากทำมาจากน้ำแข็งราดด้วยน้ำหวาน แต่หากรับประทานกับท็อปปิ้งโรยอย่างนมข้นหวาน น้ำเชื่อมเข้มข้นกลิ่นต่างๆ ผลไม้เชื่อมต่างๆ เยลลี่ ขนมปัง ซอสช็อกโกแลตหรือวิปปิ้งครีมก็อาจทำให้ได้รับพลังงานเกินได้เหมือนกัน  ควรเลือกรับประทานท็อปปิ้งส่วนนี้ในปริมาณที่พอเหมาะของที่โรยหน้าอร่อยๆก็ยังพอมีให้เลือก เช่น ผลไม้สดที่หลากหลายไม่ผ่านกระบวนการเชื่อม หรือกวน หรือทำแห้งเพื่อให้หวานขึ้นมีน้ำตาลสูงขึ้น ถั่วต่างๆหรือธัญพืช ควรหลีกเลี่ยงหรือลดปริมาณท็อปปิ้งที่ให้พลังงานสูงมากๆ เช่น น้ำเชื่อมเข้นข้นสูง นมข้นหวาน เป็นต้น

            อาหารแต่ละอย่างทำมาจากวัตถุดิบคนละชนิดก็ทำให้มีพลังงานและคุณค่าทางโภชนาการที่แตกต่างกัน ควรพิจารณาถึงวัตถุดิบที่มาของอาหารนั้นๆเพื่อที่จะได้เลือกรับประทานอาหารที่ต่อสุขภาพและตรงกับความต้องการของตนเอง  นอกจากชนิดของอาหารแล้ว ปริมาณการรับประทานเป็นอีกสิ่งสำคัญ ถึงแม้จะมีการดัดแปลงสูตรอาหารให้มีพลังงานต่ำลง ไม่ควรรับประทานมากจนเกินควร การรับประทานไอศกรีมหรือน้ำแข็งไสร่วมกับคนหลายๆคนนอกจากจะได้แบ่งปันความสุขร่วมกันแล้วยังช่วยป้องกันไม่ให้รับประทานเกินความต้องการของร่างกายด้วย

 

เอกสารอ้างอิง

Melissa Anne Fernandez and André Marette. Potential Health Benefits of Combining Yogurt and Fruits Based on Their Probiotic and Prebiotic Properties. Adv Nutr. 2017 Jan; 8(1): 155S–164S.

ข้อมูลพลังงานในอาหารไอศกรีมรสวานิลลา ไอศกรีมซอร์เบท รสส้มและ โยเกิร์ต รสธรรมดา โดยการคำนวณจากฐานข้อมูลโปรแกรม INMUCAL-Nutrient V.3

 1915
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์