“ ด้วยเชื่อมั่นว่าโรคหัวใจและหลอดเลือดสามารถป้องกันได้ ”

ฝุ่นพิษ PM2.5 เยียวยาด้วยอาหารรักษ์หัวใจ

ฝุ่นพิษ PM2.5 เยียวยาด้วยอาหารรักษ์หัวใจ

โภชนบำบัดจากฝุ่นละออง PM 2.5 ด้วยอาหารรักษ์หัวใจ

                                                                                                                                                               ผศ.ดร.ฉัตรภา หัตถโกศล

                        อาจารย์ประจำ ภาควิชาโภชนวิทยา คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

                                                จะเห็นได้ว่าปัญหาจากฝุ่นละออง PM 2.5 เพิ่มความวิตกกังวลด้านสุขภาพให้กับคนเมืองกรุงเทพมากขึ้นเรื่อยๆ คนเมืองต่างเฝ้าสังเกตดูสีที่ปรากฎในแต่ละวันแล้วลุ้นว่าจะเห็นเป็นสีเขียวสีฟ้า เพราะส่วนใหญ่ที่เห็นจะมีแต่สีเหลือง สีส้ม และก็มีสีแดง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงปัญหาสุขภาพที่จะตาม ข้อมูลจาก Institute for Health and Evaluation มหาวิทยาลัยวอชิงตัน ชี้ว่ามลพิษทางอากาศเป็นปัจจัยร่วมที่เป็นสาเหตุของโรคต่าง ๆ เนื่องจากมีส่วนประกอบของสารเคมีหลายชนิด ทั้งที่เป็นสารระคายเคืองไปจนถึงสารก่อมะเร็ง และส่งผลให้เกิดโรคฉับพลันและเรื้อรังตามมาได้เช่น โรคภูมิแพ้ของระบบทางเดินหายใจ โรคปอดอักเสบ โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ โรคมะเร็งปอด โรคหัวใจและหลอดเลือด  และกลุ่มผู้ที่ต้องระวังอย่างมากคือกลุ่มของเด็กเล็กและผู้สูงอายุ  

จากการศึกษาพบว่าผู้ที่สัมผัสอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีฝุ่นละออง PM 2.5 หรือเล็กกว่านั้นจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและโรคทางเดินหายใจ เพราะยิ่งขนาดเล็กเท่าไหร่ก็ยิ่งจะเข้าสู่ร่างกายและยิดตึดเข้าในปอดมากขึ้นเท่านั้นโดยกระบวนการคือฝุ่นละอองขนาดเล็กจะเร่งให้เกิดการอักเสบในร่างกายและลดปริมาณของสารต้านอนุมูลอิสระ พอสารต้านอนุมูลอิสระในร่างกายลดลงก็เพิ่มระดับของ Reactive Oxygen Species (ROS) ตามมาด้วยความเสื่อมของเซลล์ต่างๆโดยเฉพาะหลอดเลือดหัวใจ ส่วนปอดเมื่อได้รับฝุ่นละอองขนาดเล็กเข้าไปมากๆการทำงานของปอดก็เสื่อมลงและอาจตามมาด้วยมะเร็งปอด

ดังนั้นในภาวะเช่นนี้การได้รับอาหารที่ช่วยลดการอักเสบของร่างกายร่วมกับการได้รับสารต้านอนุมูลอิสระที่มีปริมาณที่สูงขึ้นก็จะเป็นตัวช่วยลดผลกระทบต่อสุขภาพจากการได้รับเอาฝุ่นละออง PM 2.5 หรือการอยู่ในมลภาวะที่ไม่ดีได้

โภชนบำบัดจากฝุ่นละออง PM 2.5 ด้วยอาหารรักษ์หัวใจ

  • วิตามินซี เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่สามารถช่วยลดความเสียหายทางพันธุกรรมของ DNA เมื่อได้รับสารอนุมูลอิสระที่จะมาทำอันตรายต่อเซลล์ และจากการศึกษาพบว่าการได้รับวิตามินซีจะช่วยเพิ่มระบบภูมิคุ้มกันร่างกายก็จะลดปัญหาจากภูมิแพ้ต่อระบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ระบบทางเดินหายใจ อาการคันตา อาการคันและแสบคอ อาการคันและแสบผิวหนัง อาหารกลุ่มที่มีวิตามินซีสูง เช่น ส้ม สตรอเบอรี่ แอปเปิ้ล แตงโม มะละกอ ทับทิม ผักสีเขียวเข้ม ใบบัวบก ผักขม หัวหอม
  • กรดไขมันโอเมก้า-3 เนื่องจากเป็นสารต้านการอักเสบที่ดีของร่างกาย จากการศึกษาในประเทศเม็กซิโกพบว่ากลุ่มผู้ที่ได้รับน้ำมันปลาที่มีโอเมก้า-3 จะช่วยป้องกันความเสื่อมของร่างกายจากกการได้รับฝุ่นละออง PM2.5 อาหารที่มีกรดไขมันโอเมก้า-3 เช่น น้ำมันปลา ไขมันปลา ถั่ววอลนัท เมล็ดแฟล็ก ถั่วอัลมอนด์ ถั่วเหลือง
  • วิตามินบี 6 วิตามินบี 12 และกรดโฟลิกหรือสารโฟเลต การที่สัมผัสและได้รับฝุ่นละอองขนาดเล็กนี้จะส่งผลต่อภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบโดยมีสารโฮโมซิสเทอีนในเลือดสูง การได้รับวิตามินบี 6 วิตามินบี 12 และสารโฟเลต สามารถลดสารโฮโมซิสเทอีนในเลือดลง อาหารที่มีวิตามินกลุ่มนี้ เช่น ผักสีเขียวเข้ม ผักสีส้มที่มีเบต้าแคโรทีนเช่นฟักข้าว แครอท ฟักทอง ส่วนวิตามินบี 12 มีในเนื้อสัตว์เนื้อแดง
  • บร๊อกโคลี่ Broccoli จากการศึกษาพบว่าสาระสำคัญในบร๊อกโคลี่คือ ซัลโฟราเฟน (Sulforaphane) และสารอินดอล (Indole) ช่วยเร่งการขับของสารพิษในร่างกาย และมีงานวิจัยของมหาวิทยาลัยทางการแพทย์ Johns Hopkins University ที่ศึกษาในประเทศจีนในบริเวณที่มีมลภาวะทางอากาศสูงพบว่าผู้ที่บริโภคบร๊อคโคลี่จะช่วยอวัยวะภายในคือปอดและตับในการขับของเสียออกนอกร่างกายดีกว่า
  • สมุนไพรกลุ่ม ขมิ้นชัน ขิง เปปเปอร์มิ้นต์ หัวหอม ก็เป็นกลุ่มที่ช่วยให้ปอดเกิดการชะล้างที่ดี  ลดอาการภูมิแพ้จากฝุ่นละออง พร้อมกับป้องกันร่างกายจากการติดเชื้ออื่นๆในช่วงที่ร่างกายมีภาวะอ่อนแอจากการอักเสบของร่างกาย
  • ดื่มน้ำให้มากขึ้น ควรให้มากว่า 10 แก้วต่อวัน

และด้วยภาวะของมลภาวะทีเป็นอยู่ในขณะนี้ทำให้เกิดความเครียด ความวิตกกังวลทางจิตใจเพิ่มสูงขึ้นแนะนำให้เพิ่มอาหารกลุ่มลดความเครียดเพิ่มความสุข

  • ผักขม เนื่องจากมีแร่ธาตุเหล็กสูงช่วยลดความเครียดและมีสมาธิมากขึ้นซึ่งจะทำงานร่วมกับโฟเลตและวิตามินบี 6 ที่จะส่งเสริมให้สมองผลิตสารสื่อประสาทที่ช่วยให้เกิดการผ่อนคลายเช่นเซโรโทนินเพิ่มขึ้น การที่ร่างกายมีระดับของเซโรโทนินต่ำจำทำให้รู้สึกซึมเศร้าและหวาดวิตก
  • อาหารที่มีกรดไขมันโอเมก้า 3 เช่น ปลาทะเล วอลนัท เมล็ดเฟล็ก มีส่วนช่วยให้สมองรับรู้ถึงอารมณ์ ความรู้สึก และมีความเข้าใจต่ออารมณ์มากขึ้น ทำให้ลดความรู้สึกซึมเศร้าและหดหู่ได้
  • ไข่ มีสังกะสีที่ช่วยให้เกิดความรู้สึกตื่นตัวและเพิ่มพลังงาน ลดอาการเหนื่อยล้าทางจิตใจ
  • กล้วย มีวิตามินบี 6 สูงที่ช่วยลดความเครียดและความวิตกกังวลในจิตใจ ร่วมกับมีกรดอะมิโนจำเป็นทริปโตเฟน (Tryptophan) ที่ช่วยเพิ่มระดับฮอร์โมนแห่งความสุข
  • ถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง มีโปรตีนและกรดอะมิโนไทโรซีน (Tyrosine) ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของสารเคมีในสมองเช่น  นอร์เอพิเนฟริน (Norepinephrine) โดปามีน (Dopamine) และฮอร์โมนไทรอยด์ ที่ทำงานร่วมกันเพื่อทำให้อารมณ์ดี

จะเห็นได้ว่าอาหารที่เหมาะสมสำหรับช่วงที่มีมลภาวะทางอากาศฝุ่นละออง PM 2.5 นี้ก็คือกลุ่มของอาหารรักษ์หัวใจที่ทางมูลนิธิหัวใจแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้สนับสนุนให้ประชาขนคนไทยบริโภคกันอยู่ตลอดมาภายได้โครงการอาหารไทย หัวใจดี ที่เกิดจากความร่วมมือของมูลนิธิหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับภาคโภชนวิทยา คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และมีตราสัญลักษณ์ “อาหารรักษ์หัวใจ” แสดงว่า อาหารมีชนิดของกรดไขมันในสัดส่วนที่เหมาะสม หรือ เกลือไม่มากหรือปริมาณน้ำตาลไม่มาก หรือ มีใยอาหารสูง เมื่อบริโภคในปริมาณที่ให้พลังงานเหมาะสม จะไม่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด

 

                                                                                     

                                                                              ตราสัญลักษณ์ “อาหารรักษ์หัวใจ” 

 2659
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์