“ ด้วยเชื่อมั่นว่าโรคหัวใจและหลอดเลือดสามารถป้องกันได้ ”

ขมิ้น พริก ขิง ของดีของไทยต้านเชื้อไวรัส

ขมิ้น พริก ขิง ของดีของไทยต้านเชื้อไวรัส

ขมิ้น พริก ขิง ของดีของไทยต้านเชื้อไวรัส

            สถานการณ์ตอนนี้คงไม่มีใครไม่รู้จักเชื้อไวรัสโดยเฉพาะเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ เป็นโรคที่ส่งผลให้เกิดระบบทางเดินหายใจที่อักเสบ มีการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วไปทั่วโลก วิธีการแพร่เของชื้อนี้คือผ่านจากการสูดดมละอองในอากาศที่มีเชื้อไวรัสปะปนอยู่ ซึ่งความรุณแรงของการเกิดโรคนี้จะขึ้นอยู่กับว่าจำนวนเชื้อไวรัสที่ได้รับเข้าไปในเซลล์ร่างกายนั้นมีมากเท่าไหร่ และความลึกที่เชื้อเข้าไปในปอด และหากในสภาพของสิ่งแวดล้อมที่มีอากาศที่มีละอองฝอยขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 การที่เชื้อไวรัสเข้าไปจับก็จะยิ่งเข้าสู่ปอดได้ลึกขึ้น การที่ได้รับเชื้อหากเข้าไปเยอะก็ยิ่งทำให้ปอดอักเสบมากและทำให้การทำงานในการแลกเปลี่ยนออกซิเจนทำได้น้อย ผลตามมาคือภาวะการทำงานของปอด การหายใจที่ผิดปกติจนถึงขั้นรุณแรงที่ทำให้เสียชีวิต ระบบหนึ่งของร่างกายที่มีความสำคัญมากๆคือระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย หากได้รับเชื้อไวรัสเข้าไปมากๆและภูมิต้านทานของร่างกายไม่ดีโดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ เด็กเล็ก ผู้ที่มีปัญหาของโรคปอดอยู่แล้ว ก็จะยิ่งทำให้เสี่ยงอันตรายต่อการเกิดภาวะการหายใจล้มเหลวฉับพลัน หากในคนที่ที่มีระบบภูมิต้านทานโรคที่ดีร่ายกายก็จะสามารถปกป้องร่างกายและทำลายเชื้อได้และสามารถฟื้นตัวได้จากภูมิต้านทานของตัวเองที่สร้างขึ้นมา การป้องกันหรือลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรค อย่างที่กระทรวงสาธารณสุขได้ให้คำแนะนำคือ การสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันและลดจำนวนเชื้อที่จะเข้าสู่ปอด การล้างมือเป็นประจำ และพยายามทำร่างกายให้แข็งแรง ผู้ที่แข็งแรง นั่นหมายถึงผู้ที่ออกกำลังกายเป็นประจำ มีการนอนหลับพักผ่อนที่เพียงพอ อีกปัจจัยที่สำคัญที่จะส่งผลทำให้มีร่างกายที่แข็งแรงก็คือการมีโภชนาการที่ดี รับประทานอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่คือ ข้าวแป้ง เนื้อสัตว์ ไขมันและน้ำมัน ผักและผลไม้ นอกจากนี้อาหารบางกลุ่มยังมีคุณสมบัติในการต้านเชื้อไวรัสได้ด้วย

            อาหารกลุ่มของสมุนไพรพื้นบ้านของไทยเรานั้นมีคุณสมบัติในการต้านเชื้อไวรัส โดย 3 ตัวที่มีงานวิจัยสนับสนุน ได้แก่ ขมิ้น พริก และ ขิง ซึ่งเราสามารถนำมาปรุงประกอบอาหารที่เรารับประทานกันได้เป็นประจำและง่ายต่อการบริโภคอย่างต่อเนื่อง

            ขมิ้นชัน มีสารสำคัญคือ น้ำมันหอมระเหยและสารเคอร์คิวมินอยด์ เป็นสารสีเหลืองส้ม รวมทั้งมีสารพฤกษเคมีกลุ่มโพลีฟีนอล คุณสมบัติของขมิ้นตามงานวิจัยคือ ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ฤทธิ์การต้านการอักเสบ ฤทธิ์การต้านมะเร็ง และฤทธิ์การต้านจุลินทรีย์ก่อโรคทั้งเชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย และเชื้อไวรรัส ในสมัยก่อนคนไทยจะใช้ขมิ้นในการฆ่าเชื้อโรคแทนการใช้แอลกอฮอล์ หรือใช้แปะแผลเพื่อฆ่าเชื้อ ในอินเดียจะดื่มน้ำขมิ้นเพื่อแก้หวัด แก้ไอ รักษาโรคข้ออักเสบปวดบวม อาหารที่มีขมิ้นเป็นส่วนประกอบได้แก่ แกงเหลือง แกงกะหรี่ แกงไตปลา ปลาทอดขมิ้น หมูหมักขมิ้น ข้าวผัดขมิ้น ไก่หรือเนื้อสัตว์อื่นๆย่างขมิ้น ข้าวเหนียวหน้ากุ้งใส่ขมิ้น ขนมโคขมิ้นสด สมู้ทตี้ผสมขมิ้น นอกจากนี้ยังมีเมนูที่สามารถเพิ่มเติมเอาขมิ้นชันไว้ทำเองที่บ้านได้ เช่นใส่ผสมกับน้ำสลัด ใส่ผสมกับน้ำจิ้มต่างๆ หุงข้าวใส่ขมิ้นลงไป เครื่องดื่มขมิ้น

            พริก สารสำคัญที่อยู่ในพริกคือแคปไซซิน (Capsaicin) ที่ให้ความเผ็ดร้อนทำหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ มีฤทธิ์ในการต้านเชื้อรา เชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรียและลดการอักเสบ ลดความเจ็บปวดจากการอักเสบ ยังมีงานวิจัยระบุคุณสมบัติของพริกในการเพิ่มภูมิคุ้มกันร่างกาย ทำให้ระบบไหลเวียนโลหิตดีขึ้น กลุ่มพริกทั้งหลายยังมีสารอาหารอื่นๆด้วยเช่น วิตามินเอ วิตามินซี วิตามินบี 6 แร่ธาตุแมกนีเซียม แร่ธาตุโพแทสเซียม ใยอาหาร เหล็ก หลายการศึกษาพบว่าการรับประทานพริกจะช่วยทำให้ระบบภูมิคุ้มกันนของร่างกายดีขึ้น ลดการเกิดไข้หวัด ลดน้ำมูก ลดการก่อโรคภูมิแพ้ และบางการศึกษาพบถึงสรรพคุณในการฆ่าเซลล์มะเร็ง อาหารไทยที่มีพริกเป็นส่วนประกอบมากมายทั้งพริกขี้หนู พริกชี้ฟ้า พริกเหลือง พริกกระเหรี่ยง พริกหยวก พริกหวาน สารแคปไซซินจะละลายได้ดีในไขมัน น้ำมัน ดังนั้นอาหารที่มีพริกเป็นส่วนประกอบควรต้องมีน้ำมันหรือไขมันด้วยเพื่อให้สารเข้าสู่ร่างกายได้ดีขึ้น เมนูจากพริกมีมายมายในอาหารไทย ตั้งแต่ ต้มยำ ยำ ผัดเผ็ด ผัดฉ่า น้ำพริก แกงเผ็ดต่างๆ ซึ่งความเผ็ดร้อนก็จะแตกต่างกันออกไป สำหรับข้อควรระวังในการรับประทานพริกคือ สำหรับบางคนอาจทำให้เกิดอาการปวดแสบร้อนที่ท้อง

            ขิง มีองค์ประกอบที่ทำให้ขิงเกิดกลิ่น รส และควาเผ็ด คือ น้ำมันหอมระเหย (Essential Oil)และน้ำมันชัน (Oleoresin)  มีสารสำคัญคือ จินเจอรอล (Gingerol) และโชกาออล (Shogaol) จากการศึกษาพบว่ามีการใช้ขิงทางยามายาวนานกว่าห้าพันปี ในประเทศอินเดียและจีน โดยใช้ขิงเป็นยาแก้หวัด แก้ไข้ แก้ปวด แก้การติดเชื้อต่างๆ เช่น เชื้อรา เชื้อบาดทะยัก สามารถใช้ขิงได้ทั้งขิงสด ขิงแห้ง ขิงยิ่งแก่จะยิ่งมีความเผ็ดร้อนมากกว่าขิงอ่อน มีงานวิจัยที่พบว่าขิงทำหน้าที่คล้ายกับแอสไพรินซึ่งช่วยการจับตัวเป็นก้อนของเลือด สารจินเจอรอลละลายได้ดีในน้ำมันเช่นกันดังนั้นอาหารที่มีขิงประกอบถ้ามีน้ำมันจะยิ่งทำให้เข้าสู่ร่างกายได้ดีขึ้น เมนูอาหารที่มีขิงประกอบเช่น หมู/ไก่/ปลา/เต้าหู้ผัดขิง ปลาราดซ๊อสขิง ต้มส้มใส่ขิง ผัดพริกขิง น้ำจิ้มข้าวมันไก่ใส่ขิง รับประทานขิงสดแกล้มกับหมูทอด ใส่ในโจ๊กหรือข้าวต้ม เมนูนึ่งซีอิ๊วก็สามารถโรยขิงซอยได้ เต้าฮวยน้ำขิง มันต้มขิง บัวลอยน้ำขิง ไอศกรีมขิง เอาขิงแก่มาปั่นกับน้ำผลไม้ทำเป็นสมู้ทตี้ ขิงดอง ขิงอบแห้ง

            เครื่องเทศสมุนไพรไทยทั้ง 3 ตัวนี้ ขมิ้น พริก ขิง นั้นมีอยู่ในอาหารไทยที่เราสามารถพบเห็นได้เป็นประจำอยู่แล้ว แต่เราเองอาจเลือกที่จะไม่รับประทานหรือเขี่ยออกจากจานอาหารเพียงเพราะไม่ชอบในรสชาติหรือไม่ชอบกลิ่น ลองเปลี่ยนพฤติกรรมการกินอาหารแล้วเพิ่มเติมเอาเครื่องเทศนี้อาจเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยให้ทำให้ร่างกายแข็งแรงขึ้น มีภูมิคุ้มกันร่างกายที่ดีขึ้น และลดการเกิดโรคต่างๆได้ด้วย แถมยังมีความอร่อยแบบความเป็นไทย

 

ที่มา:  บทความเรื่อง "ขมิ้น พริก ขิง ของดีของไทยต้านเชื้อไวรัส โดย ผศ.ดร.ฉัตรภา หัตถโกศล" 

ตีพิมพ์ในคอลัมภ์วาไรตี้ นสพ.เดลินิวส์ 

 

 

 3699
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์