“ ด้วยเชื่อมั่นว่าโรคหัวใจและหลอดเลือดสามารถป้องกันได้ ”

PM 2.5 มลพิษร้ายทำลายหัวใจ

PM 2.5 มลพิษร้ายทำลายหัวใจ

 

ยิ่งละอองฝุ่นมีขนาดเล็กลงเท่าใด ก็ยิ่งเป็นอันตรายคุกคามต่อสุขภาพเท่านั้น ขึ้นชื่อว่า มลพิษ ก็นับว่าเลวร้ายทั้งสิ้น แต่มลพิษจากฝุ่นละอองในอากาศที่มีขนาดเล็กลงไปอีกยิ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างแท้จริง เนื่องจากมันสามารถถูกสูดหายใจเข้าไป และมีขนาดเล็กพอที่จะเข้าไปลึกถึงปอดและทางเดินหายใจได้บางอนุภาคอาจจะเข้าไปถึงกระแสเลือดและไหลเวียนทั่วร่างกายของเราได้ในที่สุด

ผลกระทบจากมลพิษละอองฝุ่นดังกล่าวต่อสุขภาพนั้นร้ายแรงกว่าที่เคยคิดกัน จากงานศึกษาวิจัยสำคัญๆ ในระยะสิบปีที่ผ่านมา เดี๋ยวนี้ เราได้รู้แล้วว่า มลพิษทางอากาศเป็นอันตรายคุกคามสุขภาพของเรามากกว่าที่เราเคยเข้าใจ องค์การอนามัยโลกประมาณการว่ามีประชากรที่ต้อง “ตายก่อนเวลาอันควร” เนื่องจากมลพิษในอากาศทั่วโลกมากกว่าหกล้านคนในแต่ละปี และในจำนวนนี้ เป็นเด็กอายุต่ำกว่าห้าขวบราวร้อยละสิบ คือประมาณ 600,000 คน มีงานวิจัยที่แสดงด้วยว่า เมื่อคุณภาพอากาศเลวลง อัตราการไปห้องฉุกเฉินและการเข้าอยู่โรงพยาบาลจะสูงขึ้น เพราะมลพิษทำให้ปัญหาสุขภาพที่มีอยู่กำเริบขึ้น และเป็นเหตุให้หัวใจวาย หลอดเลือดในสมองตีบ หอบหืดกำเริบ และอื่นๆ อีกมากมาย

อันตรายคุกคามต่อหัวใจ งานวิจัยได้แสดงว่าการเผชิญกับมลพิษในอากาศอาจทำให้เกิดเหตุรุนแรงเฉียบพลันกับกล้ามเนื้อหัวใจได้ รวมทั้งหัวใจวาย หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจเต้นแรงขึ้น อัตราการผันแปรการเต้นของหัวใจลดลง ตลอดจนมีความเสี่ยงที่จะเกิดการตายจากภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน นอกจากนั้น ยังมีหลักฐานปรากฏไม่นานมานี้ด้วยว่า ภาวะหลอดเลือดแข็ง และการเผชิญกับอนุภาคฝุ่นละอองขนาดเล็กเป็นระยะยาวมีความเชื่อมโยงกัน โดยที่มีการสะสมตะกอนที่เรียกว่า “พลาค” ภายในหลอดเลือดซึ่งสามารถทำให้เกิดภาวะหัวใจวายและหลอดเลือดสมองตีบจนถึงตายได้

อันตรายคุกคามต่อปอดและทางเดินหายใจ : มลพิษในอากาศเป็นทั้งสาเหตุและปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคเกี่ยวกับปอดและระบบทางเดินหายใจและที่ทำให้โรคกำเริบขึ้นได้ ซึ่งรวมถึงโรคหอบหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และโรคมะเร็งปอด

อันตรายคุกคามต่อสมอง : เป็นที่เชื่อกันว่า การเผชิญกับมลพิษในอากาศเป็นระยะยาวเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้หลอดเลือดแดงในสมองแข็งตัว ทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น และความหนืดของเลือดเพิ่มขึ้น ซึ่งล้วนแต่เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดลิ่มเลือดในสมองได้

คุณอาจจะอยู่ในกลุ่มที่มีภาวะความเสี่ยงสูง : การเผชิญกับอนุภาคฝุ่นละอองขนาดเล็กเป็นอันตรายต่อสุขภาพยิ่งขึ้นสำหรับเด็ก หญิงมีครรภ์ ผู้สูงวัย และผู้ที่เป็นโรคปอดหรือโรคหัวใจ

เด็กอยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงด้วยเหตุหลายประการ – ส่วนใหญ่แล้ว ยิ่งอายุน้อยเท่าใด ความเสี่ยงยิ่งมากขึ้นเท่านั้น ปอดและระบบภูมิคุ้มกันของเด็กยังอยู่ในระยะที่กำลังพัฒนา มีงานศึกษาวิจัยที่แสดงว่าการเผชิญกับมลพิษในอากาศจะขัดขวางการเจริญเติบโตของปอดในเด็กในวัยเรียน เมี่อเปรียบเทียบกับผู้ใหญ่แล้ว เด็กใช้เวลาอยู่กลางแจ้งเพื่อเล่นกีฬาและทำกิจกรรมนอกบ้านมากกว่า นอกจากนั้น เด็กยังมีอัตราที่จะเป็นโรคหอบหืดและโรคระบบทางเดินหายใจที่รุนแรงอื่นๆ มากกว่า ซึ่งโรคเหล่านี้กำเริบขึ้นได้อย่างง่ายดายเมื่อระดับมลพิษสูง

หญิงมีครรภ์ น่าจะอ่อนแอเป็นพิเศษกับมลพิษในอากาศ งานศึกษาวิจัยเมื่อเร็วๆ มานี้แสดงว่า การเผชิญกับมลพิษในอากาศจากฝุ่นละอองในระดับสูงระหว่างตั้งครรภ์มีความเชื่อมโยงกันกับการคลอดก่อนกำหนด น้ำหนักตัวทารกแรกคลอดต่ำ และความเสี่ยงที่จะเกิดการแท้งบุตรและอัตราการตายของทารกเพิ่มขึ้น

ผู้สูงวัย ต้องเผชิญกับความเสี่ยงเพิ่มขึ้นที่จะมีปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับมลพิษ ทั้งนี้เพราะระบบภูมิคุ้มกันของผู้สูงอายุมักจะอ่อนแอลง และร่างกายมักจะมีความสามารถน้อยลงที่จะรับมือกับมลพิษในอากาศ นอกจากนั้น ผู้สูงอายุยังมีแนวโน้มมากขึ้นที่จะมีอาการเกี่ยวกับโรคหัวใจหรือระบบทางเดินหายใจที่ยังไม่ได้รับการวินิจฉัยซึ่งกำเริบขึ้นเนื่องจากมลพิษในอากาศ

ผู้ที่เป็นโรคปอดหรือโรคหัวใจ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ ภาวะหัวใจล้มเหลว โรคหอบหืด โรคถุงลมในปอดโป่งพอง โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง มีความเสี่ยงมากขึ้นเนื่องจากอนุภาคฝุ่นละอองสามารถทำให้สภาวะโรคที่มีอยู่ก่อนหน้านี้กำเริบขึ้นได้

#RightToCleanAir

 

เรียบเรียงจากบทความ : นพ.ประธาน วาทีสาธกกิจ

                                ศูนย์โรคปอด โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์

 1434
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์