“ ด้วยเชื่อมั่นว่าโรคหัวใจและหลอดเลือดสามารถป้องกันได้ ”

ต้องปฎิบัติตัวอย่างไร เมื่อมีภาวะความดันโลหิตสูง

ต้องปฎิบัติตัวอย่างไร เมื่อมีภาวะความดันโลหิตสูง

 

         เมื่ออายุมากขึ้น โรคภัยไข้เจ็บก็มักจะถามหาเป็นเรื่องธรรมดาหากดูแลสุขภาพตนเองไม่ดีพอ และหนึ่งในโรคยอดฮิตของคนไทยก็คือโรคความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นโรคประจำตัวที่ไม่หายขาด ส่วนหนึ่งเป็นจากพันธุกรรม  ส่วนหนึ่งเป็นมาจากพฤติกรรมการรับประทานอาหารและสิ่งแวดล้อม การรักษาต้องทำอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันโรคแทรกซ้อนในระยะยาว การปฎิบัติตัวที่เหมาะสมเพื่อที่จะควบคุมระดับความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก

เริ่มจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิต ได้แก่ การลดละเลิกอาหารเค็มหรืออาหารที่มีเกลือสูง ลดละเลิกการดื่มเครื่องดื่มแอลกอออล์ เน้นการออกกำลังกายอย่างน้อยครั้งละ 30 นาทีและสัปดาห์ละ 3 ครั้ง หมั่นดูแลรักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ งดบุหรี่ ต้องบริหารจัดการอารมณ์และความเครียดให้ดี การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเช่นนี้ อาจช่วยควบคุมความดันได้โดยไม่ต้องรับประทานยา แต่หากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไม่ได้ผล อาจต้องพึงการรักษาจากการรับประทานยา ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับความเห็นของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

นอกจากนี้ต้องปฎิบัติตนในดูแลตัวเองสม่ำเสมอ ได้แก่ สังเกตอาการผิดปกติของตนเองเป็นระยะ การพบแพทย์เป็นประจำตามนัด การวัดความดันโลหิตที่บ้านด้วยเครื่องวัดความดันระบบดิจิตอลที่เชื่อถือได้ จดบันทึกการเปลี่ยนเเปลงหรือค่าความดันที่ผิดปกติ เพื่อเตรียมปรึกษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

หากไม่ปฎิบัติตนดูแลตัวเองให้ดี อาจจะเกิดอะไรขึ้น?

         จากข้อมูลทางการแพทย์พบว่า ผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง มีโอกาสเสียชีวิตจากโรคหัวใจวายถึง 60 – 75% เนื่องจากคนส่วนใหญ่ที่มีความดันโลหิตสูง มักจะไม่รู้ตัวว่าเป็นเพราะไม่แสดงอาการเลยไม่ได้ให้ความสนใจ  นั่นอาจจะทำให้ผลการรักษาไม่ดีเท่าที่ควร แต่เมื่อเราเริ่มมีอาการหรือภาวะแทรกซ้อนแล้ว เนื่องจากการที่ความดันโลหิตสูงนั้น หัวใจทำงานหนักขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ผนังหัวใจหนาตัว และถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง ผนังหัวใจจะยึดออกและเสียหน้าที่ ทำให้เกิดหัวใจโต และหัวใจวายได้ในที่สุด ซึ่งการควบคุมความดันโลหิตให้ปกติอย่างสม่ำเสมอ สามารถลดโอกาสการเกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆได้ รวมถึงอัมพฤกษ์อัมพาตหรือโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดได้

อาการของผู้ป่วยความดันโลหิต ที่อาจส่งผลต่อการเป็นโรคหัวใจ สังเกตได้จากผู้ป่วยมีอาการปวดศีรษะ เวียนศีรษะ มึนงง และเหนื่อยง่ายจนผิดปกติ อาจมีอาการแน่นหน้าอกหรือนอนไม่หลับร่วมด้วย โดยความดันโลหิตสูง อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้  2 กรณี ด้วยกันคือ ภาวะแทรกซ้อนจากความดันโลหิตสูงโดยตรง (ได้แก่ ภาวะหัวใจวายหรือหลอดเลือดในสมองแตก) ภาวะแทรกซ้อนจากหลอดเลือดแดงตีบหรือตัน (ได้แก่ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันหรือเรื้อรัง ทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ อาจจะทำให้ถึงแก่ชีวิตได้ หลอดเลือดสมองตีบเกิดอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือหลอดเลือดแดงในไตตีบมากถึงขั้นไตวายเรื้อรังได้)

 

 

“ภาวะความดันโลหิตสูงไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด ต้องปฎิบัติตนให้เหมาะสม

มีวินัยต่อพฤติกรรมเพื่อสุขภาพ ได้แก่ อาหาร ออกกำลังกาย และอารมณ์”

 

 

เอกสารอ้างอิง

คณะแพทย์โรงพยาบาลรามคำแหง (2552) ดูแลหัวใจ ด้วยใจ, ศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลรามคำแหง:กรุงเทพฯ

 1153
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์