“ ด้วยเชื่อมั่นว่าโรคหัวใจและหลอดเลือดสามารถป้องกันได้ ”

ยาชนิดรับประทาน 6 กลุ่ม 12 ชนิดที่ใช้บ่อยในผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด

ยาชนิดรับประทาน 6 กลุ่ม 12 ชนิดที่ใช้บ่อยในผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด

โรคหัวใจที่พบบ่อยที่สุด คือ โรคหลอดเลือดหัวใจ รองลงมาคือ โรคลิ้นหัวใจ โรคหัวใจล้มเหลว และโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะมี ต้องพึ่งยาต่างชนิดกันไป ยารักษาในแต่ละโรคมีความหลากหลาย จัดเป็นหมวดหมู่ได้ 6 กลุ่ม 12 ชนิดยา ดังนี้

            1. ยาต้านเกล็ดเลือด  ยาชนิดแรกที่แพทย์สั่งยาให้ผู้ป่วยมากสุดคือ ยา Aspirin เป็นยายับยั้งการเกาะตัวของเกล็ดเลือดบริเวณที่หลอดเลือดขรุขระ หรือมีรอยตีบ มีข้อบ่งชี้ให้ในผู้ป่วยที่มีภาวะโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ทั้งในรายที่เป็นเฉียบพลันและเรื้อรัง หรือในรายที่ได้รับการทำบอลลูนขยายหลอดเลือด และใส่ขดลวดค้ำยันจะต้องกินยา Aspirin ร่วมกับยาต้านเกล็ดเลือดอีกหนึ่งตัว คือ Clopidogrel รับประทานคู่กันเป็นเวลา 1 เดือน, 6 เดือน หรือ 1 ปี แล้วแต่ชนิดขดลวดที่ผู้ป่วยได้รับการรักษายาทั้ง 2 ชนิดนี้มีผลทำให้เกิดภาวะเลือดออกในกระเพาะอาหารทั้งคู่ จึงควรรับประทานหลังอาหารทันที ในส่วนของยากลุ่มนี้ผู้ป่วยบางรายที่มีภาวะต้านยา Clopidogrel ได้ จะใช้ ticagrelor หรือ Prasugrel แทน

            2. กลุ่มยาที่ใช้รักษาผู้ป่วยความดันโลหิตสูง  

                2.1 ยาขับปัสสาวะ  จะทำให้ปัสสาวะออกมาก เพื่อต้องการขับน้ำและเกลือ เมื่อรับประทานยาตัวนี้อาจจะต้องตรวจระดับเกลือแร่ เพราะอาจจะมีภาวะเกลือแร่ต่ำได้

               2.2 ยาขยายเส้นเลือด ชนิดยาต้านแคลเซียม  จะขยายหลอดเลือดแดง ทำให้ความดันโลหิตลดลง ผลข้างเคียงของยา อาจจะมีอาการบวมตรงหลังเท้า เวลาที่ยืนหรือนั่งนานๆ

               2.3 ยาขยายเส้นเลือดชนิด ยาต้านแองจิโอเทนซิน คอนเวอร์ตติง เอนไซม์ (ACEI) และยาต้านแองจิโอเทนซินรีเซ็ปเตอร์ (ARB)  เป็นยาที่สามารถชะลอความเสื่อมของหลอดเลือด ป้องกันหลอดเลือดแข็งและตีบได้ ใช้เพื่อลดความดันโลหิต ขยายทั้งเส้นเลือดดำและเส้นเลือดแดง ออกฤทธิ์คล้ายกัน แต่ ACEI จะทำให้เกิดอาการไอ บางครั้งผู้ป่วยทนไม่ไหว ไอมากก็ต้องเปลี่ยนมาเป็น ARB

               2.4 ยาต้านเบต้า (Beta-Blocker)  ออกฤทธิ์ทำให้หัวใจเต้นช้า ลดอัตราการเต้นของหัวใจ ลดความดันโลหิตได้แต่ไม่ดีนัก มักจะถูกนำมาใช้ในผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจเต้นเร็ว หรือมีโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ เพื่อให้หัวใจเต้นช้าลงมีการใช้เลือดน้อยลง ทำให้ไม่เจ็บหน้าอก

            3. ยากลุ่ม Nitrate เป็นยาขยายเส้นเลือดหัวใจ มีหลายรูปแบบ มีแบบอมใต้ลิ้น ใช้ในกรณีที่มีอาการเฉียบพลัน แบบสเปรย์ และแบบรับประทานก่อนอาหาร ยาดังกล่าวมีผลข้างเคียง ทำให้ปวดศีรษะ และความดันโลหิตต่ำได้ ดังนั้น เมื่อใช้ยากลุ่มนี้ โดยเฉพาะแบบอมใต้ลิ้น ควรจะนั่งพักประมาณ 15-20 นาที ไม่ลุกขึ้นยืนทันที เพราะอาจจะทำให้วูบ และเป็นลมได้ อนึ่ง ยากลุ่มนี้ห้ามใช้ร่วมกับยาที่รักษาสมรรถภาพทางเพศเสื่อมชนิด Sildenafil เนื่องจากจะเสริมฤทธิ์ ทำให้ความดันโลหิตต่ำ ทำให้เกิดภาวะช็อค หมดสติ และเสียชีวิตได้

            4. ยาลด หรือควบคุมระดับไขมันในเลือด  ที่ใช้กันแพร่หลาย ได้แก่

               4.1 Statin  เป็นยาที่มีมาประมาณ 30 ปี ใช้ในการลดระดับ Cholesterol ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญอย่างหนึ่งที่ ทำให้เกิดหลอดเลือดแดงตีบ โดยตัวยาจะควบคุมระดับไขมัน ทำให้ไขมันลดลง โดยเฉพาะ LDL Cholesterol รวมทั้งลดการอักเสบของหลอดเลือด ในบริเวณที่ไขมันไปเกาะที่ผนังหลอดเลือด ส่งผลให้ไขมันเกาะแน่นขึ้น ไม่ร่อนหลุด ถ้ามีการร่อนหลุดของตะกรัน คราบไขมัน หรือพังผืด ทำให้เกิดหลอดเลือดหัวใจอุดตันเฉียบพลัน และเสียชีวิตได้

               4.2 ยากลุ่ม fibrate  เป็นยาลดระดับไขมันชนิด triglyceride ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงอันหนึ่งของภาวะ

หลอดเลือดตีบ ในกรณีที่ใช้คู่กับ Statin ต้องตรวจเลือดดูการทำงานของตับเป็นครั้งคราว ตามแพทย์แนะนำ

            5. ยารักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะ  ได้แก่

               5.1 ยาดิจิทาลิส  เป็นยาเก่าแก่ ใช้มานานสำหรับผู้ป่วยที่หัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดสั่นพลิ้ว (atrial fibrillation (AF)) เพื่อควบคุมให้หัวใจเต้นไม่เร็ว ยาดังกล่าวอาจเกิดพิษจากยาได้ ถ้าให้ขนาดสูง โดยเฉพาะผู้สูงวัย หรือผู้ป่วยที่มีโรคไต ดังนั้นควรใช้ภายใต้การควบคุมของแพทย์เท่านั้น

               5.2 ยาควบคุมระดับการเต้นของหัวใจชนิดอื่นๆ  จะพิจารณาให้ยาแล้วแต่ชนิดของโรคที่เป็น เช่น ยาต้านเบต้า(Beta-Blocker)  ยา Amiodarone และยา Verapamil เป็นต้น

            6. ยาต้านการแข็งตัวของเลือด ใช้ในผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดสั่นพลิ้ว (atrial fibrillation (AF)) หรือผู้ป่วยที่ผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจชนิดโลหะ ผู้ป่วยที่มีภาวะลิ่มเลือดในห้องหัวใจ เป็นยาป้องกันไม่ให้เกิดลิ่มเลือดใหม่ที่จะหลุดไปอุดหลอดเลือดที่สมองทำให้เกิดอัมพฤกษ์หรืออัมพาตได้ ที่ใช้ในการรักษา มี 2 ชนิด ได้แก่

               6.1 Warfarin  เป็นยาดั้งเดิม ป้องกันการแข็งตัวของเลือด ถ้าได้ยากลุ่มนี้ จะต้องมาตรวจเลือดดูระดับของยา ทุก 1-3 เดือน เนื่องจากระดับยาน้อยไม่ได้ผล ถ้าระดับมากทำให้เกิดภาวะเลือดออก

               6.2 ยากลุ่ม NOAC (New Oral Anticoagulant Drugs)  เป็นยาต้านการแข็งตัวของเลือดชนิดใหม่ ซึ่งมีข้อดี คือ การให้ยาไม่ต้องปรับขนาดยามากนัก กำลังเป็นที่นิยมใช้ แต่มีราคาค่อนข้างสูง ต้องใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์ ที่มีใช้ในไทยได้แก่ ยา dabigatran, rivaroxaban, apixaban และ edoxaban  ซึ่งยากลุ่มนี้อาจจะทำให้เกิดภาวะเลือดออกได้เช่นกัน ต้องใช้อย่างระมัดระวัง แต่พบภาวะเลือดออกน้อยกว่ายา Warfarin

            ยาโรคหัวใจทั้ง 6 กลุ่ม 12 ชนิดนี้ ผู้ป่วยต้องรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ และคอยสังเกตผลข้างเคียงของยา บอกให้แพทย์ที่ตรวจรักษาทราบ โดยต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด

 

เรียบเรียงโดย นายแพทย์เกรียงไกร  เฮงรัศมี

                                                                                                                                                                        หัวหน้ากลุ่มงานอายุรศาสตร์หัวใจ

                                                                                                                                                                           สถาบันโรคทรวงอก

 9195
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์