“ ด้วยเชื่อมั่นว่าโรคหัวใจและหลอดเลือดสามารถป้องกันได้ ”

ยาลดไขมันในเลือด จำเป็นจริงหรือ?

ยาลดไขมันในเลือด จำเป็นจริงหรือ?

4ส. ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญสำหรับการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ทั้งเฉียบพลัน และเรื้อรัง

                        ส.         สูงความดันโลหิต   โรคความดันโลหิตสูง

                        ส.         สูงน้ำตาล            โรคเบาหวาน

                        ส.         สูงไขมัน             ไขมันในเลือดสูง  

                        ส.         สูบบุหรี่               การสูบบุหรี่

            ในที่นี้จะกล่าวถึง ส. สูงไขมัน แบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ

                        1.   Cholesterol + LDL (ไขมันเลว)

                        2.  Triglyceride

            ซึ่งมีการรักษาด้วยการให้ยาลดไขมัน ยาที่ควบคุมระดับไขมัน ขอให้เข้าใจตรงกันว่า นอกจากจะลดระดับไขมันแล้ว ยังมีผลในการลดการอักเสบของหลอดเลือด และทำให้ไขมันและตะกรันที่เกาะที่เส้นเลือด เกาะแน่นขึ้น ไม่หลุดร่อนง่าย  ยากลุ่มนี้ถ้าคุณมีภาวะโรคหลอดเลือดหัวใจตีบอยู่แล้ว ต้องกินไปตลอดชีวิต แต่ถ้าไม่เป็น ก็จะเป็นการกินยาเพื่อป้องกัน ในส่วนของการกินเพื่อป้องกันนั้น จะมีประโยชน์ในรายที่มี ส. อื่นๆ ร่วมด้วย อย่างน้อย 2 ส. เช่น มีการสูบบุหรี่ร่วมกับไขมัน เป็นต้น

            ยากลุ่ม Statin ซึ่งเป็นยาลด Cholesterol และ LDL เมื่อกินแล้วต้องมีการตรวจดูระดับ LDL ซึ่งในการตรวจเลือดนั้น ไม่ต้องงดอาหาร สามารถตรวจได้เลย โดยระดับ LDL ในผู้ที่มีโรคหัวใจและไม่ควรเกิน 100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร หรือในรายที่เป็นโรคเบาหวาน และโรคหัวใจ ก็จะลดลงมาที่ 70มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ส่วนการกินเพื่อป้องกันโรคหลอดเลือดแข็งหรือหลอดเลือดหัวใจและสมองตีบนั้น ควบคุมไม่ให้LD:-C สูงเกิน 115 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร เมื่อทานยาแล้ว อาจจะมีผลข้างเคียงคือ มีอาการปวดกล้ามเนื้อบ้างหรือมาก เจาะเลือดตรวจอาจจะมีเอนไชม์ตับขึ้นเล็กน้อย ถ้าค่าขึ้นสูงมากกว่าปกติสามเท่าแพทย์จะให้หยุดยาระยะหนึ่ง และเริ่มใหม่โดยลดขนาดยาหรือเปลี่ยนชนิดของยา ยากลุ่มนี้มีหลายชนิด บางชนิดมีผลข้างเคียงน้อย แต่ลดระดับไขมันได้ไม่ดี บางชนิดที่มีผลข้างเคียงมาก ก็จะลดระดับไขมันได้ดี

            ยากลุ่ม fibrate ใช้ในพวกที่มี Triglyceride สูงมาก ซึ่งพบในคนที่ดื่มเบียร์ อาหารที่มีกะทิเยอะ ทุเรียน ขนุน ข้าวเหนียวมะม่วง เป็นต้น ระดับจะมีการขึ้นและลงอย่างเร็ว ส่วนใหญ่แพทย์จะยังไม่เริ่มให้ยาในการรักษา ยกเว้นขึ้นไปไม่เกิน 500 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร หลังจากที่คุมอาหารดีแล้ว ถ้ายังสูงอยู่ แพทย์จะพิจารณาให้ยาโดยควบคุมระดับไม่ให้เกิน 150 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร

            การควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย และรับประทานยาควบคุมระดับไขมัน สำหรับท่านที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดสมอง หรือ มีปัจจัยเสี่ยงสูง จะช่วยป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจในอนาคต หรือที่เป็นอยู่แล้วไม่ให้กลับมาเป็นใหม่ ถ้ามีปัญหาให้ปรึกษาแพทย์ที่ดูแล เพื่อปรับขนาดยา ควรตรวจระดับไขมันอย่างน้อยปีละ 1 ครั้งสำหรับผู้มีอายุ 50 ปีขึ้นไปครับ

 

เรียบเรียงโดย นายแพทย์เกรียงไกร  เฮงรัศมี

                                                                                            หัวหน้ากลุ่มงานอายุรศาสตร์หัวใจ

                                                                                          สถาบันโรคทรวงอก

 

 13322
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์