หลายครั้งการเชียร์กีฬาก็มักทำให้คนลุ้นแทบขาดใจ ถึงขั้นมีผู้ชมกีฬาลุ้นหนักจนเสียชีวิตเนื่องจากหัวใจวายกะทันหันเลยก็มี
นายแพทย์ โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การเชียร์กีฬาไม่ต่างอะไรกับการออกกำลังกาย เพราะการเชียร์ทำให้รู้สึกตื่นเต้นจนหัวใจทำงานหนัก ขืนฝืนเชียร์ต่อไปเรื่อยๆ อาจหัวใจล้มเหลวโดยไม่รู้ตัว
วันนี้เรามีเคล็ดลับดูแลสุขภาพใจ ให้เชียร์กีฬาอย่างปลอดภัยมาฝากกัน
1. กำหนดเวลาชมกีฬาและเวลาพักผ่อนให้เหมาะสม อย่าให้กระทบสุขภาพ การเรียน และการงาน
2. ควบคุมอารมณ์ คิดเผื่อใจเอาไว้บ้างว่าผลการแข่งขันอาจไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิด
3. หากร่างกายไม่ไหวอย่าฝืน ถ้าตื่นเต้นมากๆ จนใจสั่นก็ควรหยุดเชียร์ ดีกว่าเสี่ยงที่จะเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว
4. ดูแลสุขภาพให้แข็งแรงโดยการออกกำลังกายสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
5. สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ ต้องกินยาตรงตามเวลา ระมัดระวังไม่ให้ตื่นเต้นจนเกินไป
รู้แบบนี้แล้วเวลาเชียร์กีฬาก็เชียร์แต่พอดี แต่ไม่ต้องกลัวถึงขนาดไม่กล้าเชียร์กีฬาอะไรเลย เพราะส่วนใหญ่อาการหัวใจวายคาจอนี้จะเกิดขึ้นกับผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงอยู่แล้ว เช่น มีอาการเหนื่อยง่าย หายใจลำบาก อ่อนเพลีย อ่อนแรง นอนราบไม่ได้ ต้องใช้หมอนหนุนหลายใบเพื่อยกศีรษะให้สูงขึ้น ขณะหลับก็จะตื่นขึ้นมากะทันหันเพราะรู้สึกเหนื่อย มีอาการไอติดๆ กัน น้ำหนักลด ผอมลง เสียงหัวใจเต้นผิดปกติ เป็นต้น
ความเสี่ยงดังกล่าวเป็นการวินิจฉัยเบื้องต้น ถ้าอยากรู้ว่าตัวเองมีความเสี่ยงแน่หรือไม่ ต้องไปตรวจความเสี่ยงโรคหัวใจ ทางโรงพยาบาลจะมีโปรแกรมประเมินความเสี่ยงโรคหัวใจว่ามีโอกาสเสี่ยงกี่เปอร์เซ็นต์
ถึงจะตรวจแล้วมีความเสี่ยงน้อย แต่ก็อย่าประมาทไป ถ้าดูกีฬาแล้วใจสั่นหรือเครียด ก็ควรจะหยุดเชียร์ ไปล้างหน้าล้างตา ปรับอารมณ์ แล้วรอฟังผลการแข่งขันทีหลัง ดีกว่าไปเสี่ยง “ดับคาจอ” เป็นเห็นๆ