“ ด้วยเชื่อมั่นว่าโรคหัวใจและหลอดเลือดสามารถป้องกันได้ ”

ลดความเสี่ยงทางอารมณ์ คลายปมปัญหาโรคหัวใจ

ลดความเสี่ยงทางอารมณ์ คลายปมปัญหาโรคหัวใจ

 

 

          ปัจจัยเสี่ยงทางด้านจิตใจ อาจส่งผลไปกระตุ้นระบบประสาทและสมอง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับความเครียด ที่ภาษาทางการแพทย์เรียกกันว่า ฮอร์โมนคอร์ติซอล (cortisol)  จึงทำให้เกิดความผิดปกติในการทำงานของเกล็ดเลือด ส่งผลต่อเนื่องให้ผนังหลอดเลือดแดงมีโอกาสแข็งตัวได้

 

เกร็ดความรู้ :

     ฮอร์โมนคอร์ติซอล (cortisol)  เป็นฮอร์โมนที่ร่างกายจะหลั่งออกมาเมื่อเกิดความเครียดต่างๆ เช่น อาการเครียดจากการทำงาน เครียดเพราะปัญหาชีวิต การพักผ่อนไม่เพียงพอ ออกกำลังกายอย่างหนัก เป็นต้น

 

          ยืนยันผลได้จากโครงการวิจัย ชื่อ INTERHEART Study  ใน 52 ประเทศทั่วโลก เมื่อไม่นานมานี้ พบว่าภาวะจิตใจเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดถึง  1  ใน 3  ซึ่งไม่ว่าจะเป็นความเครียดจากเรื่องใดก็ตาม ส่งผลต่อการเกิดโรคหัวใจทั้งสิ้น เรียกได้ว่า เป็นความเสี่ยงที่มากพอๆกับภาวะความดันโลหิตสูงและความอ้วนเลยทีเดียว

 

ภาวะจิตใจที่สัมพันธ์ต่อการเกิดโรคมีดังต่อไปนี้

1. ภาวะซึมเศร้า (Depressive Disorder) เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจสูงขึ้นประมาณ 1.5 – 2 เท่า เมื่อเทียบกับคนปกติ หากผู้ป่วยเป็นโรคหัวใจร่วมด้วยอยู่แล้ว มักมีอาการเจ็บหน้าอกที่รุนแรงกว่าผู้ที่ไม่มีภาวะซึมเศร้า มีการพยากรณ์อาการที่แย่กว่าผู้ป่วยที่ไม่มีอาการซึมเศร้า ในแง่อัตราการเสียชีวิต การเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันซ้ำหรือตาย

 

2. ภาวะเครียดเรื้อรัง (Chronic  Stress) สัมพันธ์กับการเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน ได้แก่ การเกิดอัมพาต การหนาตัวขึ้นของไขมันที่เกาะผนังหลอดเลือดแดงใหญ่ที่คอ ความดันโลหิตที่เพิ่มสูงขึ้น และโอกาสเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นด้วย

 

3. ความโดดเดี่ยวหรือขาดการสนับสนุนจากสังคม (Social Isolation & Lack of Social Support) สัมพันธ์กับการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน เพิ่มขึ้น 2 – 3 เท่า รวมทั้งมีอัตราการเสียชีวิตสูงขึ้นด้วย หากผู้ป่วยเป็นโรคหัวใจร่วมด้วยอยู่แล้ว จะมีผลพยากรณ์อาการในทางไม่ดี เช่น โอกาสเสียชีวิต หรือเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันสูงขึ้น

 

4. ภาวะเครียดฉับพลัน (Acute Mental Stress) โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากความโศกเศร้าหลังการเสียชีวิต ของบุคคลผู้เป็นที่รักสัมพันธ์กับการทำให้ผู้ที่เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดเสียชีวิตเพิ่มขึ้น  2–3 เท่า ในเดือนแรก นอกจากนี้เหตุการณ์อื่นๆ ที่ส่งผล เช่น การหย่าร้าง การตกงาน การเกิดภัยพิบัติ เป็นต้น

 

5. ภาวะวิตกกังวล (Anxiety Disorder) สัมพันธ์กับอุบัติการณ์การเสียชีวิตเฉียบพลันจากโรคหัวใจ (Sudden Cardiac Death ) ซึ่งเกิดกับผู้มีภาวะนี้ในอัตราสูงขึ้นในปัจจุบันนี้

 

เอกสารอ้างอิง

วิชัย เอกพลาการและสมเกียรติ แสงวัฒนาโรจน์ (2551), บทที่ 14 –กิจกรรมทางกาย จากหนังสืิอเช็คหัวใจไม่ให้ตายเฉียบพลัน, สำนักพิมพ์กรีน-ปัญญาญาณ: กรุงเทพฯ

 956
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์