“ ด้วยเชื่อมั่นว่าโรคหัวใจและหลอดเลือดสามารถป้องกันได้ ”

เครียดได้...ก็ต้องคลาย(เครียด)ให้เป็น

เครียดได้...ก็ต้องคลาย(เครียด)ให้เป็น

 

 

        ใครๆก็เกิดภาวะเครียดได้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ก็ตาม ตามทฤษฎีทางจิตวิทยาการแพทย์ ภาวะเครียดแบ่งเป็น 2 ชนิด ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่บุคคลรู้สึกเครียดและความถี่ของการเกิดความเครียดนั้น ภาวะเครียดชนิดเฉียบพลัน (Acute Stress) คือ ความเครียดที่เกิดขึ้นทันทีทันใด และร่างกายก็ตอบสนองต่อความเครียดนั้นทันทีเหมือนกัน โดยมีการหลั่งฮอร์โมนความเครียดออกมา เมื่อความเครียดหายไปร่างกายก็จะกลับสู่ปกติเหมือนเดิม และฮอร์โมนก็จะกลับสู่ปกติเอง ได้แก่ ความเครียดที่เกิดจากเสียง อากาศร้อนหรือเย็นมากๆที่ไม่คุ้นเคย ความกลัว ตกใจ เป็นต้น อีกแบบคือภาวะเครียดชนิดเรื้อรัง (Chronic Stress) คือ ความเครียดที่เกิดขึ้นทุกวันและร่างกาย อาศัยการสะสมจนเรื้อรังตามเวลา ไม่สามารถตอบสนองหรือแสดงออกต่อความเครียดนั้น ได้แก่ ความเครียดที่ทำงาน งานที่ไม่ก้าวหน้า ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ความเหงา ที่อยู่อาศัยในแหล่งเสื่อมโทรมหรือแออัด เป็นต้น หากเกิดขึ้นและไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเหมาะสม จะเกิดเป็นภาวะความเครียดเรื้อรังนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าหรืออาการก้าวร้าวที่รุนแรงได้

 

 

เทคนิคการปลดปล่อยความเครียดที่ควรทำก่อนจะสายเกินแก้

1. เขียนบันทีกประจำวัน ระบายความรู้สึกต่อเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นแล้วทำให้รู้สึกไม่ดี เมื่อใดที่ได้ย้อนกลับมาอ่านบันทึกนั้นดูอีกครั้ง ว่าเราจัดการอารมณ์ตอนนั้นอย่างไร ก็อาจช่วยให้อารมณ์ดีขึ้นบ้างก็เป็นได้

2. หมั่นสำรวจว่าตัวเองกำลังอยู่ในอารมณ์แบบใด พยายามยิ้ม หัวเราะ ให้กำลังใจกับตัวเองเสมอ

3. ออกกำลังกาย หากได้ลองออกกำลังกายเพียงวันละ 15 - 20 นาที สมองก็จะหลั่งสารแห่งความสุขหรือสารเอ็นดอร์ฟินออกมา ช่วยให้ร่างกายรู้สึกสบายและมีความสุข

4. ให้รางวัลกับตัวเอง เมื่อมีโอกาส พาตัวเองไปเที่ยว กินข้าว สังสรรค์กับครอบครัวกับเพื่อนบ้าง

5. พบปะพูดคุยกับเพื่อนๆ จะช่วยแบ่งเบาความเครียด และช่วยให้มีชีวิตชีวาไม่รู้สึกโดดเดี่ยว

6. ไม่ควรหาทางออกด้วยการสูบบุหรี่ กินเหล้า ใช้ยานอนหลับ หรือใช้สิ่งเสพติด เพราะยิ่งจะทำให้สุขภาพทรุดโทรมลง

7. หากรู้สึกว่าไม่สามารถหาทางให้ความเครียดบรรเทาลงได้ ควรปรึกษาและขอคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

 

อยากให้เชื่อมั่นว่า เมื่อเราเกิดภาวะเครียดได้ เราก็คลายเครียดได้เช่นกัน เป็นกำลังใจให้นะคะ

 

 

เอกสารอ้างอิง

วาทินี สุขมาก (2556) การพยาบาลสุขภาพจิตและจิตสังคม 1, สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม:มหาสารคาม

 

 

 873
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์