“ ด้วยเชื่อมั่นว่าโรคหัวใจและหลอดเลือดสามารถป้องกันได้ ”

อาหารดี สมองดี (ตอนที่ 2)

อาหารดี สมองดี (ตอนที่ 2)

ต่อเนื่องมาจากบทความ อาหารดี สมองดี (ตอนที่ 1) ที่ได้อธิบายว่าเมื่อเราเลือกอาหารที่ดีรับประทานอาหารมีประโยชน์ก็จะส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานของสมองได้ นอกเหนือจากสารอาหารต่างๆ ที่ได้จาก หมวดอาหารข้าวแป้ง เนื้อสัตว์ นม และไขมัน ยังมีสารอาหารกลุ่มวิตามินที่สามารถเข้ามาช่วยและมีบทบาทเช่นกัน

        

วิตามินเอ มีส่วนช่วยในการนำส่งกระแสประสาทจากสมองเพื่อควบคุมการมองเห็น และยังช่วยประสานงานในส่วนสมองฮิปโปแคมปัส ซึ่งเป็นส่วนที่มีความสัมพันธ์กับระบบพัฒนาความคิด แหล่งอาหารของวิตามินเอ ได้จากเนื้อสัตว์ ตับ นม ไข่ ผักใบเขียว และผักผลไม้ที่มีสีเหลือง/ส้ม เช่น ฟักทอง แครอท มะละกอ เป็นต้น

 

วิตามินบี 1 มีหน้าที่ควบคุมการนำส่งกระแสประสาท หากร่างกายได้รับไม่เพียงพอ อาจเกิดอาการเหน็บชา รู้สึกอ่อนแรง เจ็บบริเวณกล้ามเนื้อเเขนและขา มีอารมณ์แปรปรวนง่าย และความสามารถในการจดจำลดน้อยลง แหล่งอาหารที่พบวิตามินบี 1 ได้แก่ ขนมปังโฮลวีต ข้าวซ้อมมือ

 

วิตามินบี 3 และวิตามินบี 6 มีส่วนช่วยในกระบวนการสังเคราะห์กรดอะมิโนทริปโตเฟน ซึ่งเป็นสารตั้งต้นของสารสื่อประสาท ได้แก่ เซโรโตนินและโดปามีน โดยจะช่วยกระตุ้นการสร้างความจำและช่วยให้สมองได้ผ่อนคลาย ป้องกันภาวะโรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุได้ แหล่งอาหารที่มีวิตามินบี 3 และวิตามินบี 6 ได้แก่ เนื้อสัตว์ ไข่ นม ข้าว ธัญพืช กล้วย

 

วิตามินบี 9 หรือกรดโฟลิก มีความสำคัญต่อการพัฒนาระบบสมองและประสาทของทารกในครรภ์มารดา หากมารดาได้รับกรดโฟลิกไม่เพียงพอ อาจทำให้ทารกพิการแต่กำเนิดชนิดความบกพร่องของการปิดของหลอดประสาท (Neural Tube Defect) จะส่งผลเสียต่อการเจริญเติบโตของร่างกายและการพัฒนาทางสมองอย่างรุนแรง แหล่งอาหารที่มีโฟเลต ได้แก่ ผักใบเขียว ถัวเมล็ดแห้ง

 

วิตามินบี 12 มีความสำคัญในการกระตุ้นการสังเคราะห์เยื่อหุ้มเส้นประสาท ทำให้การส่งกระแสประสาทเป็นไปอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ยังช่วยการรับรู้ และความจำระยะยาวในผู้สูงอายุได้อีกด้วย แหล่งอาหารที่มีวิตามินบี 12 พบได้จากเนื้อสัตว์ สารสกัดจากยีสต์ (Yeast Extract) ไข่ นมและผลิตภัณฑ์จากนม

 

วิตามินซี วิตามินอี เป็นสารต้านอนุมูลอิสระป้องกันไม่ให้เซลล์สมองถูกทำลายและยังช่วยเสริมการทำงานของเนื้อเยื่อในระบบประสาทให้แข็งแรง วิตามินซีจะพบมากในผลไม้ เช่น ฝรั่ง ส้ม และวิตามินอีจะพบได้ในน้ำมันพืช

 

เอกสารอ้างอิง

Bourre J M. (2006), Effects of Nutrients (in food) on the structure and function of the nervous system: Update on Dietary requirements for Brain. Part1 : Micronutrients, The Journal of Nutrition Health&Aging, Vol10, No.5, p.377-385

 

Pinilla F G. (2008), Brain Foods: the effects of nutrients on brain function, Nature Reviews: Neuroscience, Vol.9, p.568-578

 

 

 323
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์