“ ด้วยเชื่อมั่นว่าโรคหัวใจและหลอดเลือดสามารถป้องกันได้ ”

กินอย่าง MACROBIOTIC เพื่อชีวิตที่สมดุล

กินอย่าง MACROBIOTIC เพื่อชีวิตที่สมดุล

 

         การจะมีสุขภาพที่ดีได้ไม่ใช่เพียงแค่รับประทานอาหารที่ดีและออกกำลังกายเท่านั้น การฝึกฝนจิตใจก็เป็นเรื่องสำคัญ ในบทความนี้ขอนำเสนอรูปแบบการรับประทานอาหารที่นอกจากจะคำนึงถึงสารอาหารของอาหารแล้ว ยังคำนึงถึงแหล่งที่มาและวิธีการปรุงประกอบ และหลักปฏิบัติที่มุ่งเน้นในการรักษาสมดุลชีวิตมาเล่าให้ทุกคนฟังกันค่ะ

         แมคโครไบโอติกส์ Macrobiotics เกิดจากแนวความคิดของ George Ohsawa และถูกพัฒนาโดย Michio Kushi โดยคำว่า Macrobiotic มาจากภาษากรีก โดยมีความหมายว่า “Long Lived หรือการมีชีวิตที่ยืนยาว” ซึ่งหลักการของแมคโครไบโอติกส์คือการรับประทานอาหารอย่างมีสมดุล ใช้หลักหยินหยางตามปรัชญาเต๋า กินอาหารตามฤดูกาล รับประทานอาหารที่ปลูกเองหรือปลูกตามท้องถิ่นที่ไม่ใช้สารเคมี หลีกเลี่ยงอาหารที่ผ่านกระบวนการ ปรุงประกอบด้วยวิธีธรรมชาติและใส่ใจ รับประทานแต่พออิ่ม เคี้ยวอาหารแต่ละคำอย่างละเอียด ระลึกถึงและขอบคุณอาหารที่รับประทานเข้าไป

สัดส่วนการรับประทานอาหารในแต่ละวัน ประกอบด้วย

  1. ธัญพืชไม่ขัดสีอย่างข้าวกล้อง ข้าวโอ๊ตหรือพวกขนมปังนานๆครั้ง ร้อยละ 40-60
  2. ผักใบและพืชหัวชนิดต่างๆร้อยละ 20-30 รวมถึงพวกผักดอง สาหร่ายทะเลชนิดต่างๆอีกเล็กน้อย
  3. ถั่วชนิดต่างๆ เช่น ถั่วเลินทิล ถั่วชิกพี รวมถึงผลิตภัณฑ์จากถั่วอย่างพวกเต้าหู้และนัตโตะ
  4. ใช้เครื่องปรุงอย่างเกลือทะเล ซอสถั่วเหลืองหรือมิโซะเล็กน้อย
  5. ใช้น้ำมันพืชเพียงเล็กน้อยเท่าที่จำเป็น

 

อาหารที่แนะนำให้รับประทานรายสัปดาห์หรือตามโอกาสได้แก่

  1. ผลไม้ที่ปลูกในท้องถิ่นตามฤดูกาล
  2. ปลาเนื้อขาวและอาหารทะเล
  3. เมล็ดพืชและถั่วเปลือกแข็ง
  4. ขนมหวานที่ทำจากธัญพืชหรือผลไม้

 

อาหารที่แนะนำให้รับประทานรายเดือน รับประทานน้อยครั้งได้แก่

  1. นมและผลิตภัณฑ์จากนม
  2. ไข่ไก่และสัตว์เนื้อแดง

อาหารตามหลักแมคโคไบโอติกส์มักมีพลังงานต่ำ เนื่องจากรับประทานอาหารประเภทไขมันจากสัตว์น้อยและลดการรับประทานน้ำตาล และเพิ่มการรับประทานผักและถั่วชนิดต่างๆ ร่วมกับการดื่มชาเป็นหลัก ด้วยสาเหตุนี้จึงทำให้อาหารตามแบบแมคโครไบโอติกส์มีพลังงาน ไขมันอิ่มตัวและน้ำตาลต่ำ และมีปริมาณใยอาหาร โฟเลท วิตามินชนิดต่างๆ เบตาแคโรทีน ธาตุเหล็ก สังกะสี โซเดียมและโปแตสเซียมสูงกว่าอาหารทั่วไป  ทำให้มีผู้นำรูปแบบการรับประทานอาหารแบบแมคโครไบโอติกส์ไปใช้ในการลดน้ำหนักและลดปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหัวใจ และมีการศึกษาติดตามผู้ที่รับประทานอาหารแบบแมคโครไบโอติกส์ พบว่าผู้เข้าร่วมมีน้ำหนักตัวลดลง ความดันโลหิตลดลง ระดับคอเรสเตอรอลรวม คอเลสเตอรอลชนิด LDL และไตรกลีเซอไรด์ในเลือดลดลง ขณะที่คอเรสเตอรอลชนิดที่ดี หรือ HDL เพิ่มขึ้น

การรับประทานอาหารตามหลักแมคโครไบโอติกส์อาจจะเป็นอีกทางเลือกสำหรับผู้ที่สนใจรูปแบบการรับประทานอาหารที่ช่วยลดน้ำหนักและป้องกันการเกิดโรคเรื้อรังต่างๆอย่างปลอดภัย

 

เอกสารอ้างอิง

Edzard Ernst, CAM-Cancer Consortium. Macrobiotic diet [online document]. http://www.cam-cancer.org/The-Summaries/Dietary-approaches/Macrobiotic-diet. February 8, 2017.

Harmon BE, Carter M, Hurley TG, Shivappa N, Teas J, Hébert JR. Nutrient composition and anti-inflammatory potential of a prescribed macrobiotic diet. Nutrition and cancer. 2015;67(6):933-940. doi:10.1080/01635581.2015.1055369.

Robert H. Lerman. The Macrobiotic Diet in Chronic Disease. Nutrition in Clinical Practice Vol 25, Issue 6, pp. 621 - 626.

 

 6715
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์