“ ด้วยเชื่อมั่นว่าโรคหัวใจและหลอดเลือดสามารถป้องกันได้ ”

หวาน (มัน) เค็มอย่างไร ให้ดีต่อใจ

หวาน (มัน) เค็มอย่างไร ให้ดีต่อใจ

 

ธรรมชาติของอาหารนั้น ต้องประกอบไปด้วยเนื้อสัมผัส หน้าตา กลิ่น รสชาติ รวมกันเป็นความอร่อยความประทับใจให้แก่ผู้บริโภค อาหารที่ผู้บริโภคนิยมเลือกก็ล้วนแล้วแต่ต้องมีองค์ประกอบบางอย่างเด่นชัด แต่ผู้บริโภคจะทราบหรือไม่ว่ารสชาติอาหารที่ชื่นชอบ รสชาติที่เข้มมากเกินไป อาจส่งผลต่อการเกิดโรคต่างๆได้ ดังนั้นเวลาเลือกรับประทานอาหารต่อไป คงต้องคำนึงถึงสุขภาพร่วมกับความอร่อยเช่นกัน

 

หวานเจี๊ยบ

รู้หรือไม่ว่าคนไทยติดหวานมากแค่ไหน ข้อมูลผลสำรวจจาก Global Agricultural Network ปี 2557 นั้นพบว่าคนไทยบริโภคน้ำตาลโดเฉลี่ย 28.4 ช้อนชาต่อวัน ซึ่งคำแนะนำอยู่ที่ไม่เกิน 6 ช้อนชาต่อวัน ดังนั้นเราจึงปฎิเสธไม่ได้ว่าอาหารที่มีรสหวานมีผลต่อการดำรงชีวิตของคนไทยเป็นอย่างมาก ทั้งอาหารคาว อาหารหวาน หรือแม้แต่ผลไม้ไทยอันทรงคุณค่าที่หวานชื่นใจ เช่น ทุเรียน มะม่วง มะละกอ อ้อย กล้วย ลำไย เป็นต้น และความชอบรสหวานจะทำให้มีการเติมความหวานเพิ่มขึ้น จากน้ำตาล น้ำผึ้ง ในอาหารที่บริโภค ซึ่งการรับประทานหวานมากเกินไป ก็จะส่งผลให้ร่างกายเราไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ ก็จะทำให้เราเป็นโรคเบาหวานได้ และเกิดพลังงานสะสมในรูปไขมันทำให้มีภาวะน้ำหนักเกิน หรือเกิดโรคอ้วนได้ ดังนั้นเราควรเลือกรับประอาหารที่รสชาติไม่หวานจนเกินไป หลีกเลี่ยงของหวาน เค้กเบเกอรี่หวานๆในปริมาณมาก ควบคุมการเติมน้ำตาลไม่เกิน 6 ช้อนชาต่อวัน และที่สำคัญเครื่องดื่มรสหวานที่คนมักจะมองข้าม พยายามสั่งชา กาแฟที่หวานน้อยๆ หรือไม่เติมน้ำตาล และเลี่ยงการบริโภคน้ำหวานบรรจุขวดหรือน้ำอัดลมเป็นประจำ

 

เค็มปี๋

อาหารที่ให้รสเค็ม ได้แก่ เกลือ  น้ำปลา  ซีอิ้ว  ซอสปรุงรสต่างๆ  เป็นต้น หากเรากินมากเกินไปจะทำให้ระบบการดูดซึมอาหาร ระบบสมดุลน้ำและเกลือแร่ในร่างกายทำงานหนัก ร่างกายพยายามขับเกลือทิ้งออกทางเหงื่อ และปัสสาวะ จึงทำให้เรารู้สึกกระหายน้ำ เกิดอาการร้อนในได้ มีผลต่อความดันโลหิตที่สูงขึ้นได้ และต้องระมัดระวังมากขึ้นในผู้ป่วยที่มีโรคหัวใจ และผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะไตวาย คำแนะนำการเติมเครื่องปรุงหรือซอสปรุงรสต่างๆ ควรจำกัดไม่เกิน 2000 มิลลิกรัมของโซเดียมต่อ 1 วัน หรือเทียบเท่ากับเกลือประมาณ 1 ช้อนชา หรือน้ำปลา/ซีอิ๊ว 2 ช้อนโต๊ะ เป็นต้น และควรหลีกเลี่ยงอาหารหมักดองที่เป็นแหล่งของเกลือโซเดียมแอบแฝง ได้แก่ ผักดอง ผลไม้ดอง หรืออาหารสำเร็จรูปบางชนิด เช่น อาหารกระป๋องที่ต้องใส่เกลือเพิ่มลงไปเพื่อถนอมอาหารและยืดอายุการเก็บรักษา เป็นต้น

 

..ปรับเปลี่ยนให้คุ้นชินกับรสชาติไม่จัด หวานน้อย เค็มหน่อย เพื่อสุขภาพที่ดีของตัวเรานะคะ..

 

เอกสารอ้างอิง

-วิสาขา บุญทศ (2556) สุขภาพดีตั้งแต่ตื่นยันนอน Be healthy 24 Hour, ธิงค์ บียอนด์ บุ๊คส์:นนทบุรี

-สำนักสื่อสารและตอบโต้ความเสี่ยง, 26 พฤษภาคม 2559, "กรมอนามัย เตือน คอน้ำอัดลม - น้ำหวาน เสี่ยงโรคอ้วน เบาหวาน ความดัน หัวใจ" เข้าถึงได้จาก http://www.anamai.moph.go.th/mobile_detail.php?cid=76&nid=9465

- Drenjančević-Perić, I., Jelaković, B., Lombard, J. H., Kunert, M. P., Kibel, A., & Gros, M. (2011). High-Salt Diet and Hypertension: Focus on the Renin-Angiotensin System. Kidney & Blood Pressure Research, 34(1), 1–11. http://doi.org/10.1159/000320387

 

 

 392
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์