“ ด้วยเชื่อมั่นว่าโรคหัวใจและหลอดเลือดสามารถป้องกันได้ ”
  • หน้าแรก

  • อาหาร

  • ชีวิตเร่งรีบกับนิสัยของการบริโภคอาหารที่เปลี่ยนไป

ชีวิตเร่งรีบกับนิสัยของการบริโภคอาหารที่เปลี่ยนไป

  • หน้าแรก

  • อาหาร

  • ชีวิตเร่งรีบกับนิสัยของการบริโภคอาหารที่เปลี่ยนไป

ชีวิตเร่งรีบกับนิสัยของการบริโภคอาหารที่เปลี่ยนไป

 

            การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากรจากวัยเด็ก วัยผู้ใหญ่ มาเป็นสังคมผู้สูงอายุในยุคปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงของภาวะเศรษฐกิจและสังคม การรับขนบธรรมเนียม ประเพณี หรือแนวปฎิบัติรวมทั้งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจากต่างประเทศ เข้ามาไม่มากก็น้อย หารู้ไม่ว่าส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพและโภชนาการของคนไทย กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังมีอัตราการเกิดโรคเพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ได้แก่ โรคมะเร็ง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน สาเหตุที่สำคัญคือพฤติกรรมการดำรงชีวิตเร่งรีบ การมีชีวิตที่ต้องแข่งขันกันอย่างสูงในสังคม ทำให้เกิดพฤติกรรมการกินอาหารไม่มีคุณค่าทางโภชนาการขาดการออกกำลังกาย มีความเครียดสะสม และได้รับมลพิษ มลภาวะจากสิ่งแวดล้อมรอบกาย เป็นต้น เมื่อถึงวันนี้ เราควรมองย้อนดูตนเองว่าพฤติกรรมการบริโภคที่เรากำลังทำอยู่นั้น ส่งผลเสียต่อสุขภาพมากน้อยเพียงใด

1.ชีวิตที่เร่งรีบกับความสะดวกและรวดเร็วในเวลาที่จำกัดเหลือเกิน เห้นได้จากมีการเพิ่มขึ้นของร้านอาหารสำเร็จรูป ร้านสะดวกซื้อตามมุมสี่แยก ร้านอาหารแบบเร่งด่วน (Fast Food) ซึ่งส่วนใหญ่อาหารประเภทนี้มีพลังงานสูง จากแป้ง ไขมัน น้ำตาล และเนื้อสัตว์ติดมัน ซึ่งเมื่อคำนวณพลังงานตามความต้องการแล้วจะพบว่ามากเกินความจำเป็นของร่างกาย ดังนั้นใครที่ชอบรับประทานอาหารเหล่านี้เป็นประจำ ต้องลดความถี่ลง และหาอาหารเพื่อสุขภาพอย่างอื่นทดแทนบ้าง เช่น เลือกที่จะทำอาหารรับประทานเอง ลดหวาน ลดมัน ลดเค็ม อย่างที่เราสามารถควบคุมได้เอง หรือซื้ออาหารพร้อมปรุงชนิดเพื่อสุขภาพ เป็นต้น

2. ชีวิตที่เร่งรีบกับการกินไม่เป็นเวลา พบบ่อยที่สุดคือการไม่รับประทานอาหารเช้า เนื่องจากช่วงเช้าเป็นช่วยที่ทุกคนเร่งรีบมาก ไปทำงาน ไปโรงเรียน กลัวว่าการจราจรติดขัด และต้องเผื่อเวลาบนท้องถนนไว้มาก ทำให้บางคนไม่เห็นความสำคัญของอาหารเช้า แม้ว่าอาหารเช้าจะเป็นมื้อที่สำคัญที่สุดของวัน จำเป็นอย่างยิ่งต่อสมองและการใช้พลังงานทำกิจกรรมไปตลอดวัน ดังนั้น อาจเตรียมอาหารเช้าไว้ตั้งแต่คืนวันก่อนหน้า เพื่อตอนเช้าไม่ต้องเสียเวลาในการปรุง หรืออาจนำอาหารเช้าไปรับประทานบนรถ ขณะรถติดบนท้องถนน ก็เป็นทางเลือกอีกวิธี

3. ชีวิตที่เร่งรีบกับการกินอาหารริมบาทวิถี (Street  Food) แม้ว่าอาหารริมบาทวิถีของประเทศไทยจะเป็นที่ขึ้นชื่อ มีชื่อเสียงในเรื่องของความอร่อยและความสะดวก แต่โดยส่วนใหญ่พบว่ามีการปนเปื้อนจากสิ่งสกปรก เชื้อจุลินทรีย์ต่างๆได้ง่าย เนื่องจากร้านริมบาทวิถีไม่ได้ถูกออกแบบให้มาใช้เป็นครัวมาตรฐานที่ปลอดภัยและถูกต้องตามหลักสุขอนามัย บางร้านก็อยู่ริมถนนที่เต็มไปด้วยควันรถ ฝุ่นละอองจาถนน และขั้นตอนการเตรียม การปรุงอาหารไม่มีที่กำบังเพียงพอ ดังนั้นเวลาเลือกรับประทานผู้บริโภคควรพิจารณาถึงสภาพแวดล้อมของร้านอาหารประกอบด้วย เพื่อให้ได้อาหารที่ปลอดภัยและสุขภาพที่แข็งแรงตามมา

4. ชีวิตที่เร่งรีบการกินแบบเดิมๆ บางคนชอบผูกขาดกับร้านอาหารหรืออาหารที่ชอบได้เป็นเดือนๆ แต่หารู้ไม่ว่าการเลือกกินอาหารที่หลากหลาย เช่น ในแต่ละมื้อควรมีอาหารหลายชนิด แต่ละชนิดไม่ควรนำมาประกอบอาหารซ้ำๆ จะทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารครบถ้วน ทั้งสารอาหารที่ให้พลังงานนเละวิตามินและแร่ธาตุ เช่น ในแต่ละวันให้รับประทานผักและผลไม้หลากสี หากต้องรับประทานอาหารนอกบ้านให้เปลี่ยนเมนูไปเรื่อยๆ เช่น บางวันเป็นเมนูเส้น บางวันเป็นข้าวราดแกง อาหารตามสั่ง เป็นต้น รวมถึงควรมีวิธีการปรุงอาหารให้แตกต่างกันไป ได้แก่ ทอด อบ ย่าง นึ่ง ต้มและตุ๋น เป็นต้น

หากใครกำลังคิดไม่ตกว่าตนเองมีพฤติกรรมตาม 4 ข้อ ที่กล่าวมาหรือไม่ ค่อยๆปรับเปลี่ยนวันนี้ยังไม่สายเกินไป ใช้ชีวอตเร่งรีบได้ สุขภาพก็ต้องดีตามไปด้วยนะคะ

 

เอกสารอ้างอิง

Lichtenstein, A. H., Appel, L. J., Brands, M., Carnethon, M., Daniels, S., Franch, H. A., ... & Karanja, N. (2006). Diet and lifestyle recommendations revision 2006: a scientific statement from the American Heart Association Nutrition Committee. Circulation, 114(1), 82-96.

Nicolas, B., Razack, B. A., Yollande, I., Aly, S., Tidiane, O. C. A., Philippe, N. A., ... & Sababénédjo, T. A. (2007). Street-vended foods improvement: Contamination mechanisms and application of Food Safety Objective Strategy: Critical review. Pakistan Journal of Nutrition, 6(1), 1-10.

Prentice, A. M., & Jebb, S. A. (2003). Fast foods, energy density and obesity: a possible mechanistic link. Obesity reviews, 4(4), 187-194.

 

 3581
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์