“ ด้วยเชื่อมั่นว่าโรคหัวใจและหลอดเลือดสามารถป้องกันได้ ”

“มัทฉะ” สุดยอดเครื่องดื่มต้านอนุมูลอิสระ

“มัทฉะ” สุดยอดเครื่องดื่มต้านอนุมูลอิสระ

 

     ชาเขียวเป็นหนึ่งในอาหารยอดนิยมของคนไทยมานานหลายปีและยังมีท่าทางว่ายังอยู่ในกระแสความนิยมต่อไปอีกนานเลย ทั้งเครื่องดื่มและขนมต่างๆ แต่ท่านผู้อ่านทราบไหมคะว่าจริงๆแล้วเจ้ามัทฉะกับชาเขียวมันไม่เหมือนกัน แต่มันต่างกันยังไง มาดูกันเลยค่ะ

     ก่อนอื่นจะต้องบอกก่อนว่าชาทั้งสองแบบนี้นั้นมาจากต้นชาชนิดเดียวกัน คือต้น Camellia Sinensis แต่แตกต่างกันที่กรรมวิธีการผลิตค่ะ "ชาเขียวธรรมดา" ที่เรารู้จักกันนั้นมักใช้ในรูปแบบใบ ซึ่งจะนำมาทำให้แห้งหรือใส่ในถุงชา ก่อนที่จะนำไปต้มในน้ำร้อนระยะเวลาหนึ่ง ในขณะที่ "มัทฉะ" นั้นจะเริ่มแตกต่างตั้งแต่ขั้นตอนการเลี้ยงดูเลยทีเดียว ก่อนการเก็บเกี่ยวประมาณ 20 - 30 วัน มัทฉะจะถูกคลุมด้วยตาข่ายที่ช่วยป้องกันแสง เพื่อเป็นการทำให้ใบชาผลิตคลอโรฟิลล์และสารประกอบภายในมากขึ้น คล้ายๆกับการที่คนไทยปลูกมะนาวแล้วมีการงดน้ำช่วงหนึ่งเพื่อให้ต้นมะนาวขาดน้ำ และกระตุ้นให้มันออกผลมากขึ้นค่ะ หลังจากนั้นใบชาที่มีสีเขียวเข้มนั้นก็จะถูกนำมาบด และกากใยออกจนหมด และในที่สุดเราก็จะได้ผงมัทฉะที่มีสีสันสดใสกว่าปกติออกมา ดังนั้นเราสามารถสรุปได้ง่ายๆว่า ชาเขียวทั่วๆไป คือ ใบชา แต่มัทฉะ นั้นคือผงที่ได้จากการบดใบชาเขียวที่มีคุณภาพสูงกว่า มีแอนติออกซิแดนซ์สูงกว่า เสมือนเป็นการดื่มใบชาทั้งใบนั่นเอง โดยที่มัทฉะผงนั้นจะมีสีเขียวสดใสกว่าชาเขียวหรือผงชาเขียวทั่วๆไป ทั้งรสชาติก็มักจะเข้มข้นกว่าอีกด้วย

     การได้นั่งชมสวน จิบชามัทฉะร้อนๆ หอมๆ สักประมาณ 1 แก้ว ในวันที่รู้สึกเหนื่อยล้า ก็เป็นวิธีที่ช่วยให้คุณผ่อนคลายจากความเครียดได้อย่างดีเลยทีเดียว  ไม่เพียงเท่านี้มัทฉะยังมีประโยชน์อีกหลายด้าน แน่นอนว่าในชาทุกชนิดมีสารต้านอนุมูลอิสระอยู่จำนวนหนึ่ง แต่ที่ในมัทฉะนั้นมีสารต้านอนุมูลอิสระที่ชื่อว่า คาเตชิน อยู่ค่อนข้างสูงเลยทีเดียว สูงมากกว่าในชาเขียวทั่วๆไปถึง 137 เท่า และมากกว่าในชาเขียวอย่างดีชนิดอื่นๆถึง 3 เท่าเลยทีเดียว แต่ที่น่าสนใจกว่าก็คือ มีการศึกษาพบว่า ชาเขียวนี้สามารถช่วยลดความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ โดยมีผลช่วยในการลดไขมันและน้ำตาลในเลือด ซึ่งทราบกันดีว่าเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ ดังนั้นนอกจากการเลือกทานอาหาร เพิ่มกิจวัตรประจำวันแล้ว การหันมาจิบชายามบ่าย หรือลองเปลี่ยนเมนูเครื่องดื่มของคุณบ้างก็อาจเป็นอีกทางที่สามารถช่วยลดความเสี่ยงของโรคร้ายได้ แต่อย่าลืมนะคะว่า เมนูมัทฉะส่วนมากมักเป็นขนมหรือเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว ดังนั้นก่อนที่จะทานเราก็ต้องคิดให้ดีก่อนนะคะ ถ้าอยากทานขนมก็สามารถทานได้แต่อยากให้ระมัดระวังเรื่องความถี่และปริมาณที่รับประทานด้วย แต่ถ้าอยากจะให้ได้สารอาหารเต็มที่อยากจะแนะนำให้ดื่มเป็นชาโดยไม่ผสมน้ำตาล เพียงใช้ผงมัทฉะประมาณ 2 ช้อนชา มาผสมกับน้ำร้อนประมาณ 240 มิลลิลิตร (1 ถ้วย) เมื่อผสมให้เข้ากันแล้ว ถ้าท่านไหนยังไม่ชินกับรสชาติที่ออกจะขมเล็กน้อย อาจจะเติมน้ำตาลซักนิดหน่อย หรือลองใช้วิธีผสมกับน้ำร้อนในอัตราส่วนที่น้อยลงแล้วเติมนมลงไปแทนเพื่อให้ได้ความหวานตามธรรมชาติจากนมก็น่าจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนนะคะ ตัวผงมัทฉะที่หาซื้อได้ในท้องตลาดก็จะแบ่งเป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ คือ ผงมัทฉะอย่างดี (Premium Grade) ซึ่งมาจากใบชาที่อ่อนที่สุดและมักใช้ในพิธีชงชาในประเทศญี่ปุ่น ในขณะที่อีกกลุ่มคือ ผงมัทฉะที่ใช้ประกอบอาหาร (Culinary Grade) จะมาจากใบชาที่อ่อน แต่ยังไม่เท่ากับตัว Premium Grade ซึ่งแน่นอนว่ามีราคาที่ต่ำกว่า และนิยมในการนำมาทำขนมและเครื่องดื่มตามร้านอาหาร ถ้าหากท่านผู้อ่านเริ่มสนใจผงมัทฉะแล้วละก็ อย่าลืมไปหามาลองชิมหรือลองดื่มดูนะคะ

 

 

เอกสารอ้างอิง

Bjarnadottir, A. (2015, December 13). https://www.healthline.com/. Retrieved Feb. 26, 2018, from Matcha - Even More Powerful Than Regular Green Tea?: https://www.healthline.com/nutrition/matcha-green-tea

Cabrera C, A. R. (2006, Apr). Beneficial effects of green tea--a review. J Am Coll Nutr., 25(2):79-99.

Kim A1, C. A. (2011 , Nov). Green tea catechins decrease total and low-density lipoprotein cholesterol: a systematic review and meta-analysis. J Am Diet Assoc., 111(11):1720-9.

S., W. (2007 , Aug). Effects of green tea and EGCG on cardiovascular and metabolic health. J Am Coll Nutr., 26(4):373S-388S.

Weiss DJ1, A. C. (2003, Sep 5). Determination of catechins in matcha green tea by micellar electrokinetic chromatography. J Chromatogr A., 1011(1-2):173-80. Retrieved from https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/14518774

World Heart Federation. (n.d.). Risk factors - World Heart Federation. Retrieved Feb 26, 2018, from world-heart-federation.org: https://www.world-heart-federation.org/resources/risk-factors/

Xu P1, Y. L. (2016 , Jan). The effects of the aqueous extract and residue of Matcha on the antioxidant status and lipid and glucose levels in mice fed a high-fat diet. Food Funct., 7(1):294-300.

Zheng XX1, X. Y. (2011, Aug). Green tea intake lowers fasting serum total and LDL cholesterol in adults: a meta-analysis of 14 randomized controlled trials. Am J Clin Nutr., 94(2):601-10.

 

 

 1801
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์