“ ด้วยเชื่อมั่นว่าโรคหัวใจและหลอดเลือดสามารถป้องกันได้ ”

โรคหลอดเลือดหัวใจ แน่นหน้าอกแบบไหน ลักษณะใด

โรคหลอดเลือดหัวใจ แน่นหน้าอกแบบไหน ลักษณะใด

 

อาการแน่นหน้าอก

         อาการแน่นหน้าอกไม่ใช่เจ็บอก เป็นอาการจริงของโรคหัวใจ ซึ่งตรงกับภาษาอังกฤษที่เรียกว่า Angina Pectoris เนื่องจากคนไทย จะเข้าใจคำว่า “เจ็บ” ว่าลักษณะเหมือนโดนเข็มทิ่มหรือเป็นแผล ที่จริงแล้วจะเป็นอาการแน่น ไม่สบาย คล้ายๆ มีอะไรกดทับหรือโดนรัดหน้าอกไว้ ทำให้หายใจไม่ออก เหงื่อแตก ใจสั่น บางรายอาจจะเป็นลม หมดสติ และหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันได้ 

        

ตำแหน่งที่มีอาการแน่นหน้าอก

         สามารถเป็นได้หลายตำแหน่ง บริเวณตรงกลางหน้าอก ราวนมซ้าย จุกบริเวณคอหอย หรือร้าวไปกรามทั้ง 2 ข้าง แขนด้านในซ้าย สะบักด้านหลัง จุกใต้ลิ้นปี่ ถ้ามีอาการปวดร้าวที่อยู่ต่ำกว่าสะดือลงมา หรือขึ้นไปบริเวณศีรษะ จะไม่ใช่อาการของโรคหัวใจ

 

ระยะเวลาที่มีอาการ

         จะมีอาการแน่นประมาณ 1-5 นาที ถ้าเป็นวินาทีจะไม่ใช่อาการของโรคหัวใจ

 

ปัจจัยกระตุ้น

         1.  ในขณะที่ออกแรง แล้วมีอาการเหนื่อย เช่น ออกกำลังกาย เดินข้ามสะพานลอย กิจกรรมที่ต้องเร่งรีบ

         2.  เรื่องของอารมณ์ เช่น ความเครียด ความโกรธ อาการดีใจเสียใจ

         3.  ปัจจัยอื่นๆ เช่น มีไข้ มีภาวะเสียเลือด ช็อคเลือดออก เป็นต้น

         เนื่องจากปัจจัยดังกล่าวมีผลทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น จึงต้องการเลือดมาเลี้ยงมากขึ้น เมื่อเลือดมาเลี้ยงไม่พอก็จะมีอาการแน่นหน้าอก

 

ลักษณะของการแน่นหน้าอก

         อาการแน่นหน้าอกดังกล่าว สามารถพบในโรคอื่นๆ ได้ ได้แก่

         1.  มีอาการแน่น และเจ็บหน้าอกตรงกลาง ร้าวไปสะบักถึงกลางหลังทันที ปวดมากขึ้นทันที โดยไม่เคยเป็นมาก่อน ในผู้ที่มีโรคประจำตัวเป็นความดันโลหิตสูงต้องระวังว่าเกิดจากหลอดเลือดแดงปริ (Aortic Dissection) ต้องไปโรงพยาบาลทันที เพื่อตรวจ เอกซเรย์ทางคอมพิวเตอร์ ถ้าปล่อยทิ้งไว้จะทำให้เกิดการเสียชีวิตได้

         2.  มีอาการแน่นหน้าอก มีอาการใจสั่น เหนื่อย คล้ายโรคหัวใจทุกอย่างร่วม อาจจะเกิดจากหลอดเลือดแดงปอดมีลิ่มเลือดอุดตัน แต่มักจะมีประวัติว่าเคยขาบวม ในผู้ป่วยเรื้อรังที่นอนติดเตียงนานๆ ไม่ได้ขยับ และในบางรายอาจจะมีไอเลือดออก หายใจแรงแล้วเจ็บบริเวณชายโครงร่วมด้วย ต้องรีบไปพบแพทย์ทันที

         3.  มีอาการแน่นหน้าอกข้างใดข้างหนึ่ง หายใจไม่ออก มีอาการทันที มักจะเจอในผู้ที่ตัวผอมสูง เกิดจากลมรั่วในปอด เป็นโรคที่เป็นมาแต่กำเนิด ต้องรีบไปพบแพทย์ทันที ถ้าปล่อยไว้ทำให้เสียชีวิตได้

         4.  มีอาการแน่นหน้าอก ที่เกิดจากโรคที่ไม่รุนแรงมาก เช่น

                  -  อาการเจ็บแปลบ เวลาหายใจเข้า มีไอ ไข้ และหอบร่วมด้วย มักจะเกิดจากปอดอักเสบ หรือเยื่อหุ้มปอดอักเสบ

                  -  แน่นใต้ชายโครงขวา จุกบริเวณลิ้นปี มักจะเกิดจากอาการด้านทางเดินอาหาร ซึ่งเป็นอาการที่สัมพันธ์กับการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง เกิดจากโรคกระเพาะหรือนิ่วในถุงน้ำดี

                  -  เจ็บแปลบ เจ็บจี๊ดๆ ประมาณ 2-3 นาที เวลาที่อยู่เฉยๆ มักจะเกิดจากภาวะความเครียด

        

          ถ้ามีอาการแน่นหน้าอกดังกล่าว ในกรณีผู้ที่ไม่เคยเป็นโรคหัวใจมาก่อน ให้รีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ แต่ถ้าในกรณีเป็นผู้ที่มีโรคหัวใจอยู่แล้ว แล้วมียาอมใต้ลิ้น ให้รีบอม ถ้าภายใน 5 นาทีไม่ดีขึ้น ให้รีบไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด

         โรคหลอดเลือดหัวใจ หรือโรคกล้ามเนื้อหัวใจ สามารถมาด้วยอาการแน่นหน้าอกได้ทุกรูปแบบ บางรายจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เวียนหัว โดยเฉพาะในผู้สูงวัย หรือผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงของโรคร่วมด้วย

 

 

“แน่นอก” ไม่ใช่ “เจ็บอก” บ่งบอกว่าเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ

        

 

เรียบเรียงโดย นพ.เกรียงไกร เฮงรัศมี

กรรมการบริหารมูลนิธิหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์

 

 14781
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์