“ ด้วยเชื่อมั่นว่าโรคหัวใจและหลอดเลือดสามารถป้องกันได้ ”

ถอดรหัสพันธุกรรมกับ เทโลเมียร์

ถอดรหัสพันธุกรรมกับ เทโลเมียร์

ดร.อลิซาเบธ แบล็กเบิร์น และคณะ เจ้าของรางวัลโนเบลปี 2009 เป็นผู้ค้นพบความสำคัญของ ‘เทโลเมียร์’ และเอ็นไซม์เทโลเมอเรส เธอได้ค้นพบความหมายของรหัสพันธุกรรมที่สุดปลายสายของดีเอ็นเอ และเธอก็เชื่อว่าหากเรารู้วิธีที่จะรักษาความยาวของเทโลเมียร์ไว้ได้จะช่วยชะลอภาวะเซลล์แก่ และนำมาสู่จุดจบของความเสี่ยงต่อโรคต่างๆ ที่จะมาเยือนก่อนวัย

ดร.แบล็กเบิร์นพบว่าเทโลเมียร์ของแต่ละคนตั้งต้นมาไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับพันธุกรรมเชื้อชาติ แต่เทโลเมียร์ของเราทุกคนล้วนหดสั้นลงแปรผกผันกับอายุที่มากขึ้น หรือพูดง่ายๆ ว่ายิ่งแก่ เทโลเมียร์ยิ่งสั้น

ที่น่าสนใจยิ่งไปกว่าคือ เทโลเมียร์ของเราต่างหดสั้นเร็วช้าไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับการเลือกใช้ชีวิต การเลือกรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย การนอน ความเครียด สูบบุหรี่ ดื่มสุรา รวมไปถึงบุคลิกและวิธีที่เราใช้ในการตอบสนองต่อปัญหาที่ผ่านเข้ามาในชีวิต เหล่านี้ล้วนมีผลต่อการหดสั้นของเทโลเมียร์

 

เทโลเมียร์คืออะไร?

คือ ส่วนปลายสุดของโครโมโซม ที่จะคอยป้องกันยีนภายในโครโมโซม โดยเทโลเมียร์ จะสั้นลงเรื่อย ๆ จนถึงจุดวิกฤต ณ จุดนี้จะทำให้เกิดการสลับตำแหน่งของตำแหน่งดีเอ็นเอในโครโมโซม เซลล์จึงทำหน้าที่ไม่ได้ ทำให้เกิดการเสื่อมสภาพของอวัยวะและร่างกาย

การหดสั้นลงของเทโลเมียร์ หมายความถึง ชีวิตเราสั้นลงเรื่อยๆ การวิจัยปัจจุบันแสดงให้เห็นว่าการหดสั้นลงของเทโลเมียร์ทำให้เกิดความเสื่อมสภาพของเซลล์ มีบทบาทสำคัญต่อการเกิดโรคร้าย (Age-related diseases) และการเสียชีวิตก่อนกำหนด งานวิจัยนี้เกือบ 100 เรื่องแสดงให้เห็นว่า เทโลเมียร์ที่สั้น มีความสัมพันธ์กับโรคหลายชนิด และความเสื่อมชราของเซลล์ในร่างกาย ในอีกด้านหนึ่ง หากเทโลเมียร์ที่มีขนาดยาวสามารถบ่งบอกว่าสภาวะร่างกายของเราอยู่ในเกณฑ์ดี และจะมีอายุที่ยืนยาวได้
 

เทโลเมียร์สำคัญอย่างไร


การวิจัยในปัจจุบันนี้แสดงให้เห็นว่าการหดสั้นลงของเทโลเมียร์มีบทบาทสำคัญต่อการเกิดโรคร้ายและอัตราการเสียชีวิต เทโลเมียร์ที่สั้นมีความสัมพันธ์กันกับโรคหลายชนิด เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมอง (Cardiovascular) โรคเบาหวาน โรคอัลไซเมอร์, พาร์กินสัน, สมองเสื่อม เทโลเมียร์ที่สั้นยังมีความสัมพันธ์กันกับโรคมะเร็ง

ในอีกด้านหนึ่งหากเทโลเมียร์ที่มีขนาดยาวสามารถบ่งบอกว่าคุณมีสภาวะร่างกายสุขภาพดีและจะมีอายุที่ยืนยาวได้


รักเมียร์ ห่วงใยเมียร์ ดูแลเมียร์เสียตั้งแต่วันนี้ ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิตให้สมดุลย์ เช่น ลดความเครียด ออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เพื่อช่วยชะลอความเสื่อมของเซลล์ เพื่อเทโลเมียร์ที่ยืนยาว

 

อ้างอิง :

  • พญ.ธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล “เทโลเมียร์ ยาวแล้ว young”
  • พญ.ปิยะนุช รักพาณิชย์ “กายดี อารมณ์ดี หัวใจดี Healthy Heart Lifestyle”

 

#หลัก3อดีต่อใจปลอดภัยโรค

 1938
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์